รอยเตอร์ - ความตายของท่านผู้นำสูงสุดแห่งโสมแดง …คิม จองอิล จะทำให้พญามังกรตกอยู่ในความสะพรึงกลัวไปได้อีกพักใหญ่ทีเดียว จากมุมมองของนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญหลายคน
จีนเป็นชาติเพื่อนบ้าน และเป็นพันธมิตรสนิทที่สุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีการปกครองระบอบคอมมิวนิวต์เหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสองก็คลุมเครือไม่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ไม่น้อยจากถ้อยคำหนึ่ง ที่จีนกล่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงความเสียใจต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายคิมว่า จีนรู้สึก “เป็นทุกข์” (distressed) ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า รู้สึก"ตกตะลึง” (shocked) อันสื่อถึงความตกใจและความไม่แน่นอน ที่ผู้วางนโยบายแดนมังกรอาจรู้สึกวิตกกังวลอยู่ก็เป็นได้
สเตฟานี ไคลน์-อัห์ลบรันด์ (Stephanie Kleine-Ahlbrandt) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (the International Crisis Group) ระบุว่า การตายของนายคิมจะก่อปัญหายุ่งยากต่อนโยบายต่างๆ ของจีนทีเดียว เพราะจีนคิดว่านายคิมคงจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวไปอีก 2-3 ปี
จีนกำลังจับตามองนายคิม จองอุน ซึ่งเป็นบุตรชายและทราบกันเพียงเลา ๆ ว่า อายุอยู่ในช่วงประมาณ 20-30 ปีว่า จะสามารถสืบทอดอำนาจต่ออย่างมั่นคล่องเรียบร้อยได้อย่างรวดเร็วหรือไม่
นายไค เจี้ยน ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจการเกาหลีของมหาวิทยาลัยฟู่ตันในนครเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า ความวิตกกังวลใหญ่ที่สุดของพญามังกรคือเรื่องเสถียรภาพของเกาหลีเหนือ และเป้าหมายของจีนก็คือการทำให้แน่ใจว่า เกาหลีเหนือจะยังคงมีเสถียรภาพ ขณะที่เกาหลีเหนือเองจะเพิ่มการรักษาความมั่นคงภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับจีน ซึ่งมีแนวชายแดนติดกับเกาหลีเหนือเป็นระยะทาง 1,415 กิโลเมตร
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจของแดนโสมแดงนั้น พญามังกรเฝ้ากระตุ้นให้นายคิม จองอิล ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจอยู่นานหลายปี การเสียชีวิตของเขาจึงทำให้จีนกลัวว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขึ้น มันจะเกิดอย่างรวดเร็วเกินไป และคาดทำนายไม่ได้
นายเหว่ย จื่อเจียง ผู้อำนวยการสถาบันเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยจงซานทางภาคใต้ของจีนคาดว่า นโยบายเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รวมทั้งการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจสู่ภายนอก
“ในรุ่นของนายคิม จองอุน มีการทราบกันดีว่า เกาหลีเหนือมือาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากโลกได้” เขาระบุ
จีนหวังให้คิมผู้ลูกดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยากของประชาชน ที่เรื้อรังมานาน แต่การเปิดรับเกาหลีใต้และชาติพันธมิตรของเกาหลีใต้มากขึ้นกว่าเดิมอาจทำให้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่จีนมีต่อเกาหลีเหนือลดน้อยลง นอกจากนั้น พญามังกรยังวิตกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกินขึ้นอาจมีมากจนเลยเถิดเกินการควบคุมของบรรดาผู้นำเกาหลีเหนือ และที่ปรึกษาของเกาหลีเหนืออย่างจีน
เมื่อ 18 เดือนที่ผานมา นายคิม จองอิล ผู้แทบไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยี่ยมแดนมังกรถึง 4 ครั้ง และระหว่างการเยือนเมื่อเดือนมิ.ย. นั้น ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศว่า ความเป็นพันธมิตร ซึ่งฝังลึกถึงเลือดเนื้อนี้จะถ่ายทอดไปสู่ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำคนต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายคิม จองอุน ซึ่งเป็นทายาทยังไม่เคยผ่านการทดสอบ และแทบไม่เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก
นายจู เฟิ่ง อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกระบุว่า ความวิตกเบื้องต้นกันในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องว่า เกาหลีเหนือจะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องของอุปนิสัยของผู้นำการเมืองคนใหม่ และจะดำเนินนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนั้น เกาหลีเหนือจะยังไม่มีนโยบายใหม่ออกมา นอกจากการเน้นย้ำนโยบายด้านเสถียรภาพ และความต่อเนื่อง เพราะหลังจากนายคิม จองอิลเสียชีวิตไปไม่นานจะยังไม่มีผู้นำคนไหนกล้าพูดว่า จำเป็นต้องมีนโยบายในแนวทางอื่น ๆ
ในช่วงที่ผ่านมานั้น จีนเห็นว่าเกาหลีเหนือคือปราการทางยุทธศ่าสตร์ในการสกัดกั้นสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ แต่การเป็นปราการก็ต้องจ่ายผลตอบแทนด้วยความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทูต และเกาหลีเหนือก็ดูจะไม่เชื่อฟังจีนสักเท่าใดนัก
เมื่อเดือนต.ค.2549 เกาหลีเหนือได้ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก โดยไม่สนใจคำร้องขอให้ล้มเลิก ซึ่งจีนเรียกร้องท่ามกลางสายตาของสาธารณชน ขณะที่การเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่จีนเป็นเจ้าภาพก็ชะงักงันมานานหลาย
อย่างไรก็ตาม นายจาง เหลียนกุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือของโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์กลางในกรุงปักกิ่งยังเชื่อว่า การเสียชีวิตของนายคิม จองอิล เป็นข่าวดีอย่างที่สุด เพราะในที่สุดแล้วเกาหลีเหนือจะต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หรือเลวลง เราต้องรอดูกันต่อไป