เดอะนิวยอร์กไทมส์ - เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) เป็นวันครบรอบ 10 ปี ที่จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือWTO
หนึ่งทศวรรษ ที่จีนได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากการเข้าร่วมในองค์การนี้ ขณะที่ชาติอื่น ๆ อาจต้องนึกทบทวนไตร่ตรองกรณีเตาอบไมโครเวฟส่งออกจากจีน ซึ่งมีราคาเพียง 49 ดอลลาร์และรถจี๊ปแกรนด์เชอโรกี ที่นำเข้าจีนด้วยราคาสูงถึง 85,000 ดอลลาร์
การเข้าเป็นสมาชิกWTO ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 153 ชาติมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจจีนโตเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทและผู้บริโภคทั่วโลกต่างได้รับประโยชน์ ที่จีนผงาดเป็นชาติคู่ค้าอันดับ 1
ทว่าช่องโหว่และเงื่อนไขพิเศษบางประการ ที่จีนได้รับในฐานะชาติกำลังพัฒนากลายเป็นใบเบิกทางให้จีนสามารถปกป้องตลาดในประเทศจากการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติได้มากว่าชาติมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างมากมายทีเดียว
เตาอบไมโครเวฟส่งออกจากจีนในราคาแสนถูก และรถจี๊ปแกรนด์เชอโรกีนำเข้ามายังแดนมังกรในราคาแพงลิบดังกล่าวคือตัวอย่าง ที่ชัดเจนของความได้เปรียบนี้
เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกWTO ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถซื้อสินค้าได้ในราคา ที่ถูกลง และปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาเตาอบไมโครเวฟดิ่งลงฮวบฮาบในหมู่ชาติตะวันตก ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการผลิตเตาอบไมโครเวฟแดนมังกรมีต้นทุนค่าแรงต่ำ ประกอบกับมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม และการทุ่มลงทุนในโรงงาน ซึ่งยังรวมถึงการผลิตสินค้าอีกหลายประเภท เพื่อส่งออก ทำให้ลูกค้าทั่วโลกสามารถหาซื้อมาใช้กันได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน กฎระเบียบของWTO ที่ห้ามการปกป้องทางการค้าก็ทำให้ชาติตะวันตกยากจะจำกัดสินค้าส่งออกจากจีน ที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนยังบีบให้ต้องมีการปิดโรงงาน และลอยแพคนงานในที่อื่น ๆ อีกด้วย
แต่ในทางกลับกัน ป้ายราคารถยนต์นำเข้าที่ศูนย์ตัวแทนจำหน่ายในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และอีกหลายเมืองบ่งชี้ว่า จีนยังคงปกป้องตลาดในประเทศภายใต้เงื่อนไขพิเศษของข้อตกลงWTO ซึ่งมีการเจรจากันก่อน ที่จีนจะได้เข้าเป็นสมาชิก โดยในสหรัฐฯนั้น รถจี๊ปแกรนด์เชอโรกี ซึ่งผลิตในเมืองดีทรอยต์ ราคาเริ่มต้นที่ 27,490 ดอลลาร์ แต่เมื่อส่งไปขายยังแดนมังกร เจอภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการปกป้องตลาดแล้ว ราคารถยี่ห้อนี้พุ่งสูงถึง 85,000 ดอลลาร์ หรือแพงกว่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ค่ายรถไครส์เลอร์ขายรถในจีนได้ไม่ถึง 2,500 คันในปีนี้
บ่อยครั้งที่ชาติคู่ค้าของจีนจึงหมดความอดทนกับจีน ที่นำกฎระเบียบของWTO มาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ทั้งนี้ จีนใช้เวลา 15 ปีในการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือ GATT ซึ่งต่อมากลายเป็น WTO โดยที่จีนได้ตกลงยอมรับกฎระเบียบการค้าเสรีของWTO นอกจากนั้น ยังต้องมีการเจรจาเกี่ยวข้อตกลงในการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งมีรายละเอียดมากมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเวลานั้นยังมีความเป็นชาติกำลังพัฒนาอยู่มาก
ตามข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้จีนลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรลงต่ำกว่าชาติกำลังพัฒนาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับชาติอุตสาหกรรมส่วนใหญ่แล้ว จีนได้รับอนุญาตให้ตั้งไว้สูงกว่าอย่างมาก และจีนยังคงไว้ แม้ขณะนี้จีนมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแล้วก็ตาม
ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์คือตัวอย่างชัดเจนที่สุดของความได้เปรียบของจีน โดยถึงแม้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และตลาดรถยนต์แดนมังกรมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ก็ตาม แต่จีนก็ยังคงปกป้องไว้ด้วยกำแพงภาษีที่สูงสุดยิ่งกว่ากำแพงภาษีของชาติอุตสาหกรรมรายใหญ่ทุกราย อาทิ จีนยังคงจัดเก็บภาษีศุลกากรถึงร้อยละ 25 สำหรับรถยนต์นำเข้าขนาดเบา
หากเปรียบเทียบกัน ญี่ปุ่นไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์นำเข้าอีกต่อไปแล้ว ขณะที่เกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8 สหภาพยุโรปที่ร้อยละ 10 ส่วนสหรัฐฯ เก็บเพียงร้อยละ 2.5 และด้วยสาเหตุนี่เองจึงทำให้รถยนต์ขนาดเบา ที่จำหน่ายในจีนมีรถนำเข้าเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น
นายคาเรล เดอ กัชต์ (Karel de Gucht) กรรมาธิการฝ่ายการค้าของสหภาพยุโรปกล่าวว่า เศรษฐกิจจีน ซึ่ง “ผงาดขึ้นมาอย่างน่าตื่นเต้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หากปราศจากระบบการค้าโลก ที่เปิดเสรี ซึ่งจีนได้ประโยชน์ในระหว่าง10ปีที่ผ่านมา”
ขณะเดียวกันจีนจะต้องมีความสำนึกและมีความเคารพให้มากขึ้นไม่เฉพาะต่อความรับผิดชอบในแง่กฎหมายในฐานะสมาชิกของWTO เท่านั้น แต่มีต่อจิตวิญญาณของWTO ในการส่งเสริมหลักการของการเปิดตลาดและไม่กีดกันด้านการค้า กรรมาธิการฝ่ายการค้าผู้นี้ได้กล่าวเตือนจีน