“ไต้หวัน” ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนที่ตกเป็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง นับแต่ย่างเข้าศตวรรษที่ 20 นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพยายามใช้ทฤษฎีถ่วงดุลอำนาจ หรือทฤษฎีรัฐมาวิเคราะห์ แต่ก็ยังไม่ช่วยให้เข้าใจที่มาที่ไปปัญหาขัดแย้งระหว่างช่องแคบไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ได้อย่างถ่องแท้
ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอบริบททางประวัติศาสตร์มาอรรถาธิบายเรื่องนี้ ในการประชุมวิชาการหัวข้อ “เหตุเกิดราชวงศ์ชิง” (9 ก.ค. 2554) ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้ความร่วมมือของโครงการจีนศึกษา ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.สิทธิพลตั้งประเด็นว่า ไต้หวันเพิ่งจะมีความสำคัญต่อจีนในศตวรรษที่ 20 แต่ก่อนจีนมิได้สนใจไต้หวันหรือแม้แต่จะอยากรับรู้เรื่องราวบนเกาะนี้ด้วยซ้ำ ก่อนยุคราชวงศ์ชิง เกาะไต้หวันเป็นดินแดนที่อยู่นอกเขตอำนาจของจีน มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนว่าจีนมิได้มองว่าไต้หวันเป็นของตนเกิดขึ้นในค.ศ. 1604 เมื่อบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาล่องเรือมาจอด ณ หมู่เกาะเผิงหู เพื่อใช้เป็นฐานทางการค้ากับจีน นายทหารของราชวงศ์หมิงก็บอกกับเรือฯ ว่า “เกาะเผิงหูเป็นของจีน ถ้าจะจอดเรือให้ไปจอดที่เกาะไต้หวัน” แสดงให้เห็นว่า จีนมิได้มองว่าไต้หวันเป็นของจีน
ดร.สิทธิพล บรรยายต่อว่า ไต้หวันเพิ่งจะเริ่มมีความสำคัญเมื่อก้าวเข้าสู่สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1684-1895) แต่ก็เป็นเพียงเหตุผลด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ หลังแมนจูชิงอำนาจากราชวงศ์หมิงได้ แม่ทัพเจิ้งเฉิงกงก็นำกำลังทหารเข้ายึดเกาะไต้หวันมาจากฮอลันดาและใช้เป็นฐานที่มั่นต่อต้านราชสำนักชิง เมื่อความมั่นคงทางการเมืองของราชสำนักถูกโยกคลอน จักรพรรดิคังซี หลังจากปราบกบฏสามเจ้าศักดินาแล้ว จึงได้หันมาปราบกลุ่มการเมืองตระกูลเจิ้ง (ของเจิ้งเฉิงกง) บัญชาทัพโดยแม่ทัพซือหลางยึดเกาะไต้หวันสำเร็จ แต่กระนั้นก็ไม่คิดจะผนวกไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่กลับให้ชาวจีนบนเกาะอพยพกลับแผ่นดินใหญ่แทน ทว่าซือหลางเห็นว่าต่างชาติอาจใช้ไต้หวันเป็นฐานที่มั่นอีก จึงทูลคัดค้าน จักรพรรดิคังซีจึงตัดสินพระทัยสถาปนาไต้หวันยกระดับเป็น “จังหวัด” ใน ค.ศ. 1684 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนครองอำนาจเหนือเกาะไต้หวัน
กระนั้นอำนาจปกครองเหนือเกาะไต้หวันของราชวงศ์ชิงก็กระจุกตัวอยู่เพียงบริเวณแถบตะวันตกของเกาะเท่านั้น ขณะที่บริเวณตะวันออกยังคงเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง เมื่อปี ค.ศ.1871 ชาวริวกิวจำนวน 54 คน เรืออับปางว่ายน้ำมาขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของเกาะ และถูกชนพื้นเมืองสังหาร ญี่ปุ่นจึงเรียกร้องให้จีนจ่ายค่าเสียหาย แต่จีนปฏิเสธโยให้เหตุผลว่าชนชาวพื้นเมืองมิได้อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของจีน ด้านญี่ปุ่นถือว่าเมื่อจีนอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันก็ย่อมต้องรับผิดชอบ จึงส่งกำลังทหาร 2,000 นายไปบุกเกาะไต้หวัน ท้ายที่สุดอังกฤษต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยให้จีนจ่ายเงินแก่ญี่ปุ่น 5 แสนตำลึง ญี่ปุ่นจึงยอมถอยทัพ
ต่อมาจีนทำสงครามกับฝรั่งเศสช่วงชิงอิทธิพลเหนือเวียดนาม ในปี 1884 เมื่อจีนแพ้และไม่ยอมจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ฝรั่งเศสได้ส่งทหารและกองเรือยึดหลายเมืองทางตอนใต้ รวมทั้งไต้หวัน แต่ชาติตะวันตกหลายฝ่ายเห็นว่าตนอาจสูญเสียผลประโยชน์ในจีนจึงคัดค้าน ทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมถอย ดร.สิทธิพลชี้ว่า ครั้งนั้นทำให้ราชวงศ์ชิงตระหนักรู้ความสำคัญทางทะเลมากขึ้น จึงตัดสินใจยกฐานะไต้หวันเป็น “มณฑล” เมื่อ ค.ศ.1885
กระทั่งปี ค.ศ.1895 จีนพ่ายแพ้สงครามแก่ญี่ปุ่น ทำให้ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งดร.ซุนยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติของจีนโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงได้และสถาปนาสาธารณรัฐ ปี 1911 แล้ว เขาก็มิได้ระบุว่าจะต้องทวงไต้หวันกลับคืนมา เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งก่อตั้งในปี 1921 ก็มิได้แสดงปรารถนาอยากได้ไต้หวันกลับคืนมา เหมาเจ๋อตงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สัมภาษณ์ไปในเชิงว่า “จะช่วยให้ไต้หวันหลุดพ้นจากการเป็นดินแดนอาณานิคม หรือก็คือให้เป็นอิสระ มิจำเป็นต้องขึ้นกับจีนแต่อย่างใด”
ดร.สิทธิพล เสนอว่า ทัศนคติของเหมาในขณะนั้นที่ไม่เห็นความจำเป็นว่าไต้หวันต้องเป็นดินแดนของจีนเพราะเหตุผลสองประการ ได้แก่ เหตุผลด้านวัฒนธรรม จีนมองคนป่าที่ไต้หวันว่าเป็นพวกนอกวัฒนธรรม และอีกเหตุผลคือ องค์การโคมินเทิร์น หรือคอมมิวนิสต์สากลของรัสเซียที่ช่วยเหลือทั้งพรรคกั๋วหมินตั่งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีนโยบายสนับสนุน “การปกครองด้วยตนเอง” ดังนั้นไต้หวันจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นกับจีน
เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนกลับมามองว่าไต้หวันเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกครั้ง เจียงไคเช็กผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่งระบุในปี 1942 ว่า ไต้หวันเป็นป้อมปราการที่สำคัญต่อการป้องกันประเทศและความมั่นคงของชาติ เมื่อเจียงเดินทางไปประชุม ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์เมื่อปี 1943 ก็ได้เรียกร้องว่า หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามจะต้องยกดินแดนไต้หวันคืนให้กับจีน ฝ่ายเหมา เจ๋อตงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เห็นด้วยกับเจียงไคเช็ก คือให้ไต้หวันกลับมาเป็นของจีน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะช่วยปลดแอกไต้หวันให้เป็นอิสระ
ดร.สิทธิพลทิ้งท้ายว่า หลังจากสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคกั๋วหมินตั่งยุติลงในปี ค.ศ.1949 เจียงไคเช็กต้องถอยร่นมาตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวัน และจีนคอมมิวนิสต์ได้ครองแผ่นดินใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยืนหยัดจุดยืนเสมอว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่แบ่งแยกไม่ได้” ยิ่งมีสหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันฯ โดยอ้างว่าเพื่อให้ไต้หวันสามารถป้องกันตัวเองได้ ยิ่งทำให้กลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คาราคาซังและทวีความรุนแรงเป็นครั้งคราวตราบจนปัจจุบัน