เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - หลังจากปิดปากเงียบอยู่นาน นับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากการถูกทางการควบคุมตัวอยู่ถึง 2 เดือน
ในที่สุดเจียง เทียนหยง นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนแดนมังกร ก็ยอมให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ อย่างหมดเปลือกเป็นครั้งแรกว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ข่มขู่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง เพื่อให้ยอมจำนนในการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนก.พ.
นักกฎหมาย บล็อกเกอร์ และนักเคลื่อนไหวจำนวนหลายสิบคน “หายตัวไป” หลังจากออกมาปลุกระดมทางออนไลน์ให้ประชาชนเข้าร่วม “การชุมนุมดอกมะลิ” ในเมืองใหญ่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “การปฏิวัติดอกมะลิ” ในโลกอาหรับ ต่อมาเมื่อทางการปล่อยตัว นักเคลื่อนไหวบางคนก็มิได้เปิดเผยอะไรมากนักเกี่ยวความทุกข์ทรมาน ที่ได้รับระหว่างถูกกักกัน
แต่สำหรับเจียง เขาเป็นคนแรก ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องราวทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่ต้องการตกอยู่ในความหวาดกลัวอีกต่อไป หลังจากเกิดความเครียดอย่างที่สุดจากการถูกทารุณทั้งทางร่างกายและด้วยวาจา หวาดผวาสิ่งที่อำนาจรัฐอาจกระทำ หากเขาผิดสัญญาที่ให้ไว้ อันเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัว ซึ่งรวมทั้งการตกลงว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
เจียงตกเป็นเป้าสายตาของทางการ นับตั้งแต่เขาออกมาทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้นับถือลัทธิฝาหลุนกง ชายวัย 40 ปีผู้นี้เล่าว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ. และถูกซ้อมสะบักสะบอมอยู่ 2 คืน จากนั้นก็ถูกบังคับให้นั่งนิ่ง ห้ามกระดุกกระดิกนานถึงวันละ 15 ชั่วโมงอยู่ภายในห้องหนึ่ง ซึ่งปิดม่านตลอดเวลา
เขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสอบสวน ซักไซ้ซ้ำ ๆ และเขาจะตอบว่า “ผมไม่รู้” ไม่ได้
ผู้สอบสวนบอกกับเจียงว่า “ที่นี่เราอาจทำสิ่งต่างๆ ตามกฎหมาย หรือไม่ทำตามกฎหมายก็ย่อมได้ เพราะเราได้รับอนุญาตไม่ต้องทำตามกฎหมาย”
ในคืนที่สอง เจียงถูกเตะถูกต่อย จนต้องร้องวิงวอนกับผู้สอบสวนว่า “ผมก็เป็นคน คุณก็เป็นคน แต่ทำไมคุณถึงได้ทำสิ่ง ที่ไร้มนุษยธรรมเหลือเกิน”
ชายผู้นั้นบันดาลโทสะ กระทืบเจียงลงไปกองกับพื้น ตะคอกใส่ว่า "มึงมันไม่ใช่คน !”
เจียงถูกปล่อยตัวในอีก 60 ต่อมา หลังจากเจ้าหน้าที่เชื่อว่า ประสบความสำเร็จในการล้างสมองนักเรียกร้องประชาธิปไตยผู้นี้แล้ว โดยที่เจียงต้องลงนามในคำสัญญา 8 ข้อ แต่ถ้าวันใดสัญญาไม่เป็นสัญญา คนพวกนั้นเตือนว่า เขาอาจหายตัวไปอีกก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ภรรยาเขาเอง
เจียงถูกบีบให้ทำตัวเงียบ ๆ อย่าเป็นจุดเด่น แต่เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. เขาก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นบนไมโครบล็อก และลงข้อความหลายครั้งในเว็บไซต์ทวิตเตอร์เมื่อเดือนส.ค.
สิ่งต่าง ๆ ดูเหมือนกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่ความทุกข์ทรมาน ที่ได้รับ ทิ้งบาดแผลในจิตใจ
"ผมรู้สึกเหมือนจะเป็นบ้าได้ทุกครั้งที่เข้ามาอยู่ข้างในอาคาร" เจียงสารภาพ
แต่เขาคิดว่า ตนเองยังโชคดีกว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์คนอื่น ที่ถูกจับตัวไป ทนายความถัง จี๋เทียนถูกบังคับให้อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัด ต่อมา เมื่อได้รับอิสระแล้ว แพทย์วินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นวัณโรค ทุกวันนี้เขาต้องกินยา ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้สูญเสียความทรงจำไปชั่วคราว
ส่วนไอ้ เว่ยเว่ย นักศิลปะชื่อดัง ซึ่งถูกควบคุมตัวมานานเกือบ 3 เดือน น้องสาวของเขาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า เขาถูกขังอยู่ภายในห้อง ซึ่งเปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คนจับตามองทุกระยะ แม้ในตอนที่เขาอาบน้ำ หรือนอนหลับ
ประสบการณ์ของนักเขียน "เหลียว อี้อู๋"
ในงาน ซึ่งจัดขึ้นโดยPEN กลุ่มนักเขียน ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในนครนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร (13 ก.ย.) เหลียว อี้อู๋ นักเขียน ซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลจีนกล่าวว่า อาชญากรรมเดียวที่เขาก่อบนแดนมังกรก็คือการต่อต้าน "การล้างสมอง" และระบุว่า เสรีภาพส่วนบุคคลในจีนจะถูกหยิบยื่นให้แก่คนที่ยอมละทิ้งเสรีภาพทางจิตวิญญาณของตนเองแล้วเท่านั้น
เหลียวถูกศาลของจีนตัดสินจำคุก 4 ปี โทษฐานเขียนบทกวี ชื่อว่า "Massacre" หรือ "ฆาตกรรมหมู่" ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532
ระหว่างอยู่ในเรือนจำนั้น สมองของเขาราวกับเทป ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของพวกมิจฉาชีพต้องโทษคดีต่าง ๆ รวมทั้งพวกค้ายาเสพติด ฆาตรกร และโจร คนเหล่านี้ต้องการเล่าเรื่องราวชีวิตให้เหลียวฟัง ก่อนจะถูกประหารชีวิต พวกเขาไม่เคยสนใจการเมือง แต่ต้องการเสรีภาพในการแสดงความรู้สึกนึกคิด
" การล้างสมองคือปัญหาใหญ่ที่สุดในจีน ถ้าคุณไม่มีความทรงจำ หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทุกอย่างก็พอเป็นไปได้... แต่คุณต้องลืมเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนตัวไปซะ" เหลียวระบุ
เหลียวออกเดินทางจากจีนเมื่อต้นปีนี้ โดยใช้วิธีเดินเข้าไปในเวียดนาม จากนั้น ก็เดินทางต่อไปยังเยอรมนี และในงานดังกล่าวเป็นการเปิดเผยเรื่องราวครั้งแรกของเหลียวในสหรัฐฯ