เอเยนซี - จีนจัดพิธีรำลึกวาระครบรอบ 66 ปี ชัยชนะเหนือสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ชาวจีนนับพันในสถานที่ต่างๆได้เข้าร่วมพิธีฯ ร้องเพลงรำลึก วางพวงหรีดและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สงครามครั้งประวัติศาสตร์
ชาวจีนในเมืองฮาร์เอ่อร์ปิน(ฮาร์บิน) และหู่หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง ได้มาร่วมวางพวงหรีดและร้องเพลงรำลึกแด่ทหารจีนผู้กล้าที่เสียชีวิตจากสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในโอกาสรำลึกครบรอบ 66 ปี ชัยชนะเหนือสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
ในกรุงปักกิ่ง ชาวจีนเกือบ 4,000 คน ได้มาร่วมพิธีฯที่หอรำลึกโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่โดยกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสะพานมาร์โค โปโล(สะพานหลูโกวเฉียว) ขณะที่ หลี่ ตงหลัง ผู้เชี่ยวชาญแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยว่า “เราต้องจดจำและหวงแหนในสันติภาพซึ่งได้มาอย่างยากลำบากนี้”
สำหรับเมืองหนานจิง(นานกิง) มณฑลเจียงซู นักเรียนจีน ชาวต่างชาติและผู้รอดชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมนานกิง มากกว่า 100 คน ได้เข้าร่วมพิธี ณ หอรำลึกโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ที่หนานจิง โดยมีการตีระฆัง 66 ครั้ง รำลึกครบรอบ 66 ปี ชัยชนะเหนือสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
ขณะที่ทีมศึกษาสงครามต่อต้านญี่ปุ่นแห่งมหานครฉงชิ่งได้เผยข้อมูลเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับเหยื่อผู้เสียชีวิตระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นช่วงเดือนก.พ. 2481 - ธ.ค. 2487(ค.ศ. 1938-1944) ระบุว่ามีชาวจีนในฉงชิ่งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 30,000 คน
ทั้งนี้ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลบุกจีนในเดือนก.ย. 2474(ค.ศ.1931) แต่บรรดานักประวัติศาสตร์ส่วนมากเห็นพ้องกันว่า กองทัพแดนอาทิตย์อุทัยได้เริ่มยาตราสู่แดนมังกรอย่างเต็มอัตราศึกในวันที่ 7 ก.ค.2480 (ค.ศ.1937) หลังจากเกิดศึกปะทะระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับกองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีนที่สะพานมาร์โค โปโล(สะพานหลูโกวเฉียว) ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเอาว่าเป็นจุดแตกหักที่ทำให้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (พ.ศ. 2480-2488)
หลังจากการศึกที่สะพานมาร์โค โปโล กองทัพญี่ปุ่นก็เคลื่อนบุกตีเซี่ยงไฮ้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนถัดมา และเพื่อให้บรรลุภารกิจยึดจีนให้ได้ภายใน 3 เดือน กองทัพญี่ปุ่นจึงส่งกำลัง 3 เหล่าทัพ พร้อมเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าถล่มนานกิง
สำหรับนานกิง (หรือ หนานจิง) เมืองหลวงของจีนในเวลานั้นและยังเป็นที่ตั้งสุสานของดร.ซุนยัดเซ็น ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกขยี้จนเจียง ไคเช็กต้องถอยทัพหนีไปที่ ฉงชิ่ง ทิ้งพลเมืองเกือบ 1 ล้านคน กับกำลังทหารป้องกันนานกิงเพียงไม่กี่หมื่นคน จนนานกิงแตกพ่ายเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2480(ค.ศ.1937) และกองทัพญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการสังหารโหดชาวจีน เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ โดยในบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีเหยื่อสงครามมากกว่า 300,000 คน