ตำรวจนิวยอร์กบ้าจี้จับร้านขายสินค้าสำหรับพิธีกงเต๊ก ได้ของกลาง กระเป๋า-รองเท้า-เสื้อผ้ากระดาษ ตั้งข้อหาเจ้าของละเมิดตราสินค้าแบรนด์เนมหรู “หลุยส์ วิตตอง-เบอร์เบอรี” คนไชน่าทาวน์โวยเป็นประเพณีเก่าแก่แต่แค่เปลี่ยนขอให้เข้ากับยุคสมัย ไม่นึกว่าจะผิดกฎหมายอเมริกา
สัปดาห์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 23 ส.ค. ทางตำรวจนิวยอร์กได้บุกเข้าตรวจค้นและจับพนักงานในร้านขายของกงเต๊งชื่อ “ฟุก ออน ซิง” ที่ตั้งอยู่บนถนนมัลเบอร์รี กลางเกาะแมนฮัตตันมหานครนิวยอร์ก โดยเจ้าของร้านดังกล่าวถูกตั้งข้อหา ปลอมแปลงสินค้าหลายชนิด รวมไปถึงละเมิดลิขสิทธิ์กระเป๋าแบรนด์ดังอย่าง หลุยส์ วิตตอง และเบอร์เบอรี อีกด้วย
สำหรับร้านฟุก ออน ซิง ตั้งอยู่ในย่านไชน่าทาวน์ โดยขายสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับงานศพตามประเพณีจีนหลายหลายชนิด โดยสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ผลิตจากกระดาษ กระดาษแข็ง และพลาสติกซึ่งชาวจีนใช้เผาส่งไปให้บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วในพิธีกงเต๊ก โดยร้านดังกล่าวขายคฤหาสน์ทำจากกระดาษแข็งในราคาประมาณ 12,000 บาท (400 เหรียญสหรัฐฯ) โทรทัศน์จอแบน 1,200 บาท (40 เหรียญสหรัฐฯ) นอกจากนี้ยังมีแบงก์กงเต๊กระบุมูลค่าใบละ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ รถยนต์สปอร์ต โทรศัพท์มือถือ ชุดสูท ตุ๊กตาคนรับใช้ที่ทำจากกระดาษขายอีกด้วย
“เมื่อญาติพี่น้องเสียชีวิต คนจีนก็รู้สึกว่าคนที่จากไปต้องการสิ่งของเครื่องใช้ในโลกหน้าด้วย พวกเขาอาจจะต้องการรถ ต้องการบ้าน และของดีๆ อย่างอื่น ผู้คนซื้อของเหล่านี้ไว้ใช้ส่งไปให้กับคนตาย” เอมี มัก ชาน ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของพนักงานพยายามอธิบาย
ขณะที่โฆษกตำรวจนิวยอร์กให้ข้อมูลแต่เพียงที่ระบุในบันทึกการจับกุม คือ ผู้ถูกจับกุมคือ นายวิง ซุน มัก ถูกจับได้ว่าเสนอขายกระเป๋าถือปลอมแปลงละเมิดลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบอร์เบอรีจำนวน 3 ใบ ละเมิดลิขสิทธิ์ยี่ห้อหลุยส์ วิตตองอีก 1 ใบ ไม่นับรวมกับรองเท้าอีก 4 คู่ และเสื้อผ้าอีก 2 ชุด
นายมักให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีชายในชุดลำลองเดินเข้ามาในร้าน โดยดูจะให้ความสนใจกับกระเป๋าและรองเท้าลำลองกระดาษแข็งที่พะยี่ห้อ หลุยส์ วิตตอง และกุชชี “เขาถามผมว่า ‘ราคาเท่าไหร่’” นายมักเล่า และตอบกลับไปว่าราคาใบละ 20 เหรียญสหรัฐฯ หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวก็แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และจับกุมนายมักในทันที
หลังจากถูกจับ นายมักถูกควบคุมตัวอยู่หนึ่งคืน และถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาในช่วงบ่ายวันพุธ (24) ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา โดยนายมักถูกตั้งข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับที่ 3 ขณะที่ทนายของมักให้สัมภาษณ์ว่า เขาปฏิเสธข้อเสนอของทางโจทก์ที่ยอมให้นายมักยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดและจ่ายค่าปรับจำนวน 100 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีความ
ป้าของผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์ต่อว่า “เราไม่คิดว่าการขายของอย่างนี้จะผิดกฎหมายของอเมริกา เพราะของในพิธีกงเต๊กที่เผาไปให้กับผู้ตายก็เปลี่ยนแปลงไปยุคสมัย” โดยรายงานระบุด้วยว่าในวันดังกล่าวนอกจากการเข้าจับกุมของใช้ในพิธีกงเต๊กที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในร้านฟุก ออน ซิงแล้ว ตำรวจนิวยอร์กยังมีการจับกุมผู้ตั้งแผงขายกระเป๋าแบรนด์เนมปลอมอื่นๆ ในย่านไชน่าทาวน์ของมหานครนิวยอร์กอีกด้วย