“การสร้างโรงเรียนมากขึ้นหนึ่งแห่ง ช่วยลดนรกไปหนึ่งแห่ง” นักเขียนจีน อี่ว์ กั่ว กล่าว
สอดคล้องกับคำกล่าวของนักเขียนนวนิยายชื่อก้องชาวอเมริกัน ‘มาร์ค ทวิน’ “การปิดโรงเรียนแต่ละแห่งไปนั้น คุณก็ต้องเปิดนรกเพิ่มอีกหนึ่งแห่งด้วย”
***
ณ วันนี้ กรุงปักกิ่งมหานครอันศิวิไลซ์ ดูจะไม่ไยดีถ้อยคำอันเลื่องลือนี้
ไม่มีโรงเรียนแล้ว! นับจากเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา มีประกาศปิดโรงเรียนประถมสำหรับลูกหลานแรงงานอพยพในเขตต้าซิง เฉาหยัง และไห่เตี้ยน เกือบ 30 โรงเรียน นักเรียนตัวน้อยๆ รวมกว่า 30,000 คน ถูกลอยแพ ไร้ที่เรียน ไม่รู้อนาคต
ด้านคณะกรรมการการศึกษาเขตเฉาหยังบอกว่าได้ตระเตรียมที่เรียนใหม่ให้แล้ว แต่คณะกรรมการการศึกษาเขตไห่เตี้ยน และเขตต้าซิง ยังไม่มีคำตอบ หลังจากที่ได้ทุบโรงเรียนของลูกๆแรงงานอยพยพไปเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา โรงเรียนประถมศึกษาซินซีหวั่ง (ซึ่งแปลว่า โรงเรียนความหวังใหม่) ได้ถูกรื้อถอนราบเป็นหน้ากลอง โดยอ้างว่าสัญญาเช่าหมดอายุลงแล้ว
...ไม่ได้รับใบอนุญาตเปิดการเรียนการสอน
“ที่นี่ เปิดการเรียนการสอนมา 10 ปี เมื่อคิดจะปิดก็ปิดเลย” นาง หยัง ครูใหญ่แห่งโรงเรียนถวนเหอ ตำบลซีหงเหมิน เขตต้าซิง กล่าวด้วยใบหน้าที่ฉายความวิตกกังวล
วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักเรียนราว 560 คน ของโรงเรียนถวนเหอ ได้รับหนังสือแจ้งคนละ 1 ฉบับ ระบุว่า “จากการตรวจสอบ โรงเรียนถวนเหอดำเนินการเรียนการสอนอย่างผิดกฎหมาย และห้ามการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. ....เรียนผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาหน้า”
หลังจากนั้น โรงเรียนลูกคนงานต่างถิ่นในเขตต้าซิง 10 กว่าแห่ง ก็ได้รับใบประกาศปิดโรงเรียน ด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ ไม่มีใบอนุญาตเปิดการเรียนการสอน ไม่มีใบรับรองกรรมสิทธิ์เช่าอาคาร สร้างอาคารหอพักผิดกฎหมาย มีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ดังนั้น จึงต้องปิดโรงเรียนเหล่านี้
นางหยัง เผยว่านับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คณะกรรมการเขตก็ยุติการออกใบอนุญาตเปิดโรงเรียนลูกแรงงานอพยพ โรงเรียนของเธอเปิดมาตั้งแต่ปี 2545 เธอได้ยื่นคำร้องขอเปิดการเรียนการสอนหลายครั้งไปยังคณะกรรมการการศึกษาระดับต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวมาตลอด
ขณะนี้ มีโรงเรียนลูกแรงงานอพยพในเขตต้าซิง อย่างน้อย 17 แห่ง ที่ไม่บรรลุมาตรฐานของทางการ และการปิดโรงเรียนครั้งนี้ ทำให้นักเรียน 10,000 กว่าคน ต้องไร้ที่เรียน
นอกจากนี้ โรงเรียนลูกแรงงานอพยพในเขตไห่เตี้ยน และเขตเฉาหยัง อีกนับสิบแห่งก็กำลังเผชิญชะตากรรมเช่นกับโรงเรียนฯในเขตต้าซิง
“ปลายเดือนมิ.ย. ผู้บริหารโรงเรียนทะเลาะกับคณะกรรมการการศึกษาฯเรื่องสัญญา จนถูกตัดน้ำตัดไฟ” ครูใหญ่โรงเรียนหงซิง เขตไห่เตี้ยน กล่าว
และในเช้าวันที่ 9 ส.ค.ผู้บริหารโรงเรียนและผู้จัดการฝ่ายอาคารได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลเขตไห่เตี้ยน “แจ้งการยึดอาคารและที่ดิน และคนงานจากคณะกรรมการการศึกษาจะมาทำการรื้อถอนอาคาร”
วันที่ 15 ส.ค. ขณะที่โรงเรียนลูกแรงงานอพยพถูกรื้อถอนไปแล้วหลายแห่ง คณะกรรมการการศึกษาประจำเมืองกล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องของทางอำเภอและเขต พวกเขาไม่รู้เรื่อง
...เปิดโรงเรียนลูกแรงงานอพยพ เป็นเพียงความฝันไปแล้ว
“คิดอะไรไม่ออกแล้ว ฉันเปิดโรงเรียนสำหรับลูกคนงานต่างถิ่นมา 10 กว่าปี และรู้สึกมาตลอดว่าตัวเองทำความดีแล้ว แต่ก็ถูกไล่เช่นนี้” ครูหยังกล่าว นัยน์ตาแดงๆ
ครูหยัง เล่าว่าเธอเปิดโรงเรียนฯนี้มาเมื่อปี 2545 โดยเริ่มจากเช่าที่ดิน 100 กว่าตารางเมตร และสร้างห้องเรียนไม่กี่ห้อง ปี 2546 ก็ปฏิบัติกฎระเบียบของคณะกรรมการการศึกษาตำบล โดยเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 4,000 กว่าตารางเมตร และซ่อมอาคารขนาด 18 ห้อง เป็นหอพัก
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เวิ่นชวน มณฑลเสฉวน ครูหยังก็ปรับปรุงโรงเรียนอีกเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของคณะกรรมการการศึกษา ทั้งปรังปรุงหอพัก เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ อุปกรณ์เครื่องมือฆ่าเชื้อโรค กล้องวงจรปิด และยังติดตั้งเครื่องปรับอากาศห้องเรียนทุกห้อง เสียค่าใช้จ่าย 200,000 หยวน ใช้ไปเพียง 1 ปี ก็ถูกปิดโรงเรียน
ทั้งนี้ ตามกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการเปิดโรงเรียนประถมศึกษาของปักกิ่ง ระบุกฎพื้นฐาน ได้แก่ บริเวณโรงเรียนต้องมีขนาดอย่างน้อย 15,000 ตารางเมตร หอพักรวมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดต้องมีขนาด 3,587 ตารางเมตร พื้นที่สนามเล่นกีฬาออกกำลังกาย จะต้องมีลานวิ่งรูปวงกลม อย่างน้อย 200 เมตร “พูดจริงๆ เงื่อนไขเหล่านี้ ไม่มีโรงเรียนสำหรับลูกแรงงานอพยพที่ไหน สามารถทำได้ การปรับปรุงตามมาตรฐานนี้ เป็นความฝัน” ครูหยัง กล่าว
...ทางแก้ปัญหาสำหรับนักเรียนที่ถูกลอยแพ
เขตเฉาหยังได้กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับนักเรียนที่ถูกลอยแพ คือ กลุ่มนักเรียนที่สามารถดำเนินขั้นตอนและได้รับ ‘ใบอนุญาตเรียนชั่วคราว’ในเขตที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถเข้าโรงเรียนของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากไม่มีใบอนุญาตเรียนชั่วคราวเด็กๆก็อาจถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนในสังกัดของคณะกรรมการการศึกษาเขต โดยมีค่าใช่จ่าย 350 หยวนต่อหนึ่งเทอม อุปกรณ์การเรียนการสอนฟรี
อย่างไรก็ตาม ครูใหญ่ของโรงเรียนหลันเทียน ซึ่งถูกปิดไปแล้วนั้น กล่าวว่าแค่โรงเรียน 4 แห่งในเขตตงป้า ที่ถูกปิดไป นักเรียนที่ถูกลอยแพมีจำนวนถึง 3,900 คนแล้ว ซึ่งเกินความสามารถรับนักเรียนของ โรงเรียนของคณะกรรมการการศึกษาเขต แต่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการศึกษาเขตเฉาหยัง ก็ยืนยันว่าโรงเรียนของคณะกรรมการฯมีความสามารถพอรับนักเรียนที่ถูกลอยแพได้หมด และจะไม่ปล่อยให้นักเรียนที่ถูกลอยแพคนใดต้องสูญเสียการเรียน
สำหรับเขตไห่เตี้ยนมีวิธีแก้ไขปัญหาแตกต่างออกไป โดยกำหนดคุณสมบัติผู้สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ โดยผู้ปกครองต้องยื่นคำร้องพร้อมเอกสารอย่างขั้นต่ำ 5 ฉบับ ได้แก่ ผู้ปกครองต้องมีใบอนุญาตอาศัยชั่วคราวในปักกิ่ง เอกสารรับรองว่ามีที่พักและอาศัยอยู่จริงในปักกิ่ง เอกสารรับรองจากสถานที่ทำงานในปักกิ่ง เอกสารรับรองจากภูมิลำเนาเดิมว่าครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กได้ เอกสารสำมะโนครัวแสดงรายชื่อสมาชิกครอบครัวทั้งหมด ฯลฯ
การบรรลุกฎระเบียบเอกสารรับรองทั้งห้าฉบับนี้ เป็นเกณฑ์ที่สูงมากสำหรับผู้ปกครองหลายคน ผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนลูกแรงงานอพยพ หลายคนมีอาชีพขายผักรับจ้างเย็บเสื้อผ้า ขายของหาบเร่ รับจ้างชั่วคราว ซึ่งยากมากที่คนเหล่านี้จะสามารถบรรลุข้อเรียกร้องเอกสารรับรองครบทั้งห้านี้
ฉู่ เฉาฮุย แห่งสำนักงานวิจัยการศึกษาของรัฐบาลกลาง ยังได้ชี้ว่าการปิดและรื้อถอนโรงเรียนลูกแรงงานอพยพ ไม่ใช่วิธีการที่ดี ขณะนี้ปักกิ่งยังคงปิดโรงเรียนประเภทนี้ไม่เลิก
ฉู่ได้ยกตัวอย่างเมืองที่จัดการปัญหาโรงเรียนลูกแรงงานอพยพได้ดีคือ นครเซี่ยงไฮ้ โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ควักกระเป๋าซื้อและดำเนินการเปิดโรงเรียนลูกแรงงานอพยพเสียเอง ลูกหลานของแรงงานอพยพจึงไม่มีอุปสรรคในการเข้าโรงเรียน กรุงปักกิ่งควรที่จะศึกษาแบบอย่างนี้จากเซี่ยงไฮ้
แปลเรียบเรียงจาก เป่ยจิง นิวส์ และไชน่า ยูธ เดลี่
*แรงงานอพยพเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมเฉพาะตัวของประเทศจีน ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศจีนหลังการปฏิวัติจีนใหม่โดยพรรคคอมมิวนิสต์ ได้กำหนดวิธีการต่างๆเพื่อสกัดการเคลื่อนย้ายประชากรสู่เมืองต่างๆนับจากปี 2495 และสำมะโนครัว หรือที่จีนเรียก ‘ฮู่โข่ว’ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเหล่านี้ ฮู่โข่วกำหนดให้พลเมืองอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาของตนเท่านั้น และจะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ อาทิ ประกันสังคม จากเขตการปกครองที่ขึ้นทะเบียนฮู่โข่วเท่านั้น
นับการปฏิรูปเศรษฐกิจในต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ผ่อนปรนกฎเหล็กว่าด้วยการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของประชากร แม้จะมีการหวนกลับมาเข้มงวดในบางช่วงก็ตาม กลุ่มประชากรจากเขตชนบทที่ยากจนก็ยังหลั่งไหลสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะตามชายฝั่ง เพื่อทำงานและสร้างอนาคตที่ดีกว่า ปัจจุบันในประเทศจีนมีกลุ่มแรงงานอพยพมากถึง 103 ล้านคน และปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ ด้วยข้อจำกัดฮู่โข่ว แรงงานอพยพเหล่านี้ไม่มีสิทธิรับสิทธิประโยชน์ใดๆจากเมืองที่พวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อทำงาน พวกเขาจึงไม่ผิดกับ ‘พลเมืองชั้นสอง’ของเมืองใหญ่ที่อาศัยอยู่
ขณะนี้มีคาดการณ์ว่า ในปี 2568 อีก หรืออีก 14 ปีข้างหน้า จีนจะมีกลุ่มแรงงานอพยพถึง 243 ล้านคน