xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม "สามสะพานจอมอึด" แดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพียงเดือนเดียว เกิดเหตุสะพานถล่มพังหลายครั้ง จนประชาชนผู้สัญจรพากันหนาวๆร้อนๆยามคิดจะสัญจรบนสะพาน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. เกิดเหตุสะพานเฉียนถังที่สามในเมืองหังโจวซึ่งเปิดใช้งานมา 14 ปี พังถล่มลงมา, วันที่ 14 ก.ค.สะพานกงก่วนตอนเหนือในอู๋อี๋ซัน มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเปิดใช้งาน 12 ปี หักพังลงมาอย่างฉับพลัน, วันที่ 11 ก.ค. สะพานทงอี๋ว์เหอที่เมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู ซึ่งใช้งานมา 14 ปี ได้พังถล่มลงมาเช่นกัน สะพานทั้งสามแห่งนี้ ล้วนเป็นสะพานรุ่นใหม่ ชาวเน็ตต่างข้องใจมองหาสำรวจกันว่ามีสะพานแห่งใดในประเทศจีนที่จะสร้างความอุ่นใจในการสัญจรได้ และก็พบ ‘ยอดสะพานแกร่ง’

สะพานจอมอึดเหล่านี้ บางแห่งสร้างสมัยราชวงศ์ชิง บางแห่งสร้างในสมัยสงครามยุคพรรคกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) บางแห่งสร้างในยุคแห่งความยากจนอดอยากด้วยซ้ำ แน่นอน เทคโนโลยี วัสดุ และเงินทุน ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับปัจจุบัน แล้วทำไมสะพานรุ่นกึ๊กเหล่านี้จึงมีความแข็งแกร่งทนทายาดปานนี้? แล้วสะพานในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคมั่งคั่งของจีน มันเป็นอะไรไป? ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือเหตุที่ทำให้สะพานรุ่นเก่าแข็งแกร่งกว่า ดังยอดสามสะพานแกร่ง ที่จะได้สาธยายต่อไปนี้
สะพานหลิงเฉียว หนิงปัว
สะพานหลิงเฉียวแห่งหนิงปัว

สะพานหลิงเฉียว มีอายุ 75 ปี ความยาว 132 เมตร

เหตุความแข็งแกร่ง สร้างด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาจนสุกงอมแล้วของยุโรป ใช้วัสดุชั้นดี ดูแลรักษาสม่ำเสมอ

สะพานหลงเฉียวใช้วัสดุเหล็กทั่วไปที่ผู้คนในยุคนั้นมักใช้กัน เทคโนโลยีการก่อสร้างก็เป็นแบบที่ยุโรปใช้กันทั่วไปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาจนสุกงอมดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างสะพาน นาย เฉิน เหวยเจิน กล่าวว่าหลิงเฉียวเป็นสะพานทั่วไป ใช้งานมา 75 ปี ปัจจุบันรถยังวิ่งสัญจรบนสะพานอย่างคึกคักในแต่ละวัน

สะพานหลิงเฉียวสร้างเสร็จและเปิดใช้วันที่ 27 มิ.ย. 2479 ก่อนหน้าหลิงเฉียวเป็นสะพานแขวนสร้างในยุคราชวงศ์ถัง ผ่านยุคสมัยและทรุดโทรมไปตามกาล ทั้งเคยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ในปี 2469 ทำให้ประชาชนจมน้ำตาย 30 กว่าคน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่รวบรวมทุนบูรณะสะพานใหม่ เวลานั้นเป็นยุคการต่อสู้สงครามระหว่างก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ คหบดีในนครเซี่ยงไฮ้และหนิงปัวได้กำหนดภารกิจ ‘สร้างสะพานเพื่อประชาชน’

คหบดีในนครเซี่ยงไฮ้และหนิงปัวได้บริจาคเงินสร้างสะพาน โดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างเยอรมนีเป็นผู้ก่อสร้าง ใช้วัสดุเหล็กจากบริษัทเยอรมนีอีกราย และบริษัทอื่นมารับช่วงงานส่วนอื่นๆ

กล่าวได้ว่า การก่อสร้างสะพานหลงเฉียวเป็นการประสานเทคโนโลยีที่สุกงอมและวัฒนธรรมคหบดีแบบจีนในยุคนั้น ได้อย่างถึงแก่น

มีเรื่องเล่าว่า หินทรายที่ใช้ก่อสร้างสะพาน ล้วนผ่านกระบวนการร่อนโดยใช้ตะแกรงร่อน และล้างทำความสะอาดจนเกลี้ยงหมดจด คหบดีผู้ตรวจสอบหินทราย ได้ใช้ผ้ากากเพชรห่อหินทราย เมื่อเปิดผ้าออกมาดู ผ้ากากเพชรยังไร้รอยเปื้อนแม้ฝุ่นเม็ดเดียว จากนั้นจึงนำไปใช้งาน

สะพานหลิงเฉียวผ่านการซ่อมแซมบูรณะในปี 2537 และซ่อมอีกครั้งในปี 2546 อีกสี่ปีต่อมาจึงมีการซ่อมครั้งใหญ่
สะพานฉังเจียง นครหนันจิง
สะพานฉังเจียงแห่งหนันจิง

สะพานฉังเจียงแห่งนครหนันจิง อายุ 43 ปี ความยาว 1,577 เมตร

เหตุแห่งความแข็งแกร่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างสะพานทั่วประเทศมาร่วมคิดและดำเนินโครงการก่อสร้าง เน้นคุณภาพอย่างจริงจัง ขนาดผู้บัญชาการทหารเขตหนันจิง สี่ว์ ซื่อโหยว นำรถถังมาแล่นทดสอบพื้นถนนสะพาน

ทุกๆสัปดาห์ วิศวกร นาย วั่ง ฟัง วัย 73 ปี ยังได้ไปดูสะพานฉังเจียงหนันจิง ที่เขาเคยเข้าร่วมและออกแบบ ไม่กี่ปีมานี้ มีการซ่อมแซมสะพานฉังเจียงหนันจิงหลายครั้ง แต่สะพานก็ยังจัดอยู่ในสภาพดีเยี่ยม วั่ง ฟัง อ้างอิงการประเมินการออกแบบก่อสร้าง บอกว่า สะพานฉังเจียงหนันจิงอยู่ในช่วงกลางของอายุการใช้งาน “ใช้ไปอีก 50 ปี ก็ไม่มีปัญหา”

สะพานฉังเจียงหนันจิงเริ่มการก่อสร้างในปี 2503 เผชิญภัยพิบัติธรรมชาติ 3 ปี และช่วงการปฏิบัติวัฒนธรรม รวมเวลาการก่อสร้าง 8 ปี จึงเปิดใช้งาน

วั่ง ฟัง เล่าว่าแทบกล่าวได้ว่าโครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศมาร่วมก่อสร้าง ในตอนนั้นเทคโนโลยีและวัสดุค่อนข้างล้าหลัง แม้เผชิญเงื่อนไขที่ลำบากและข้อจำกัด แต่ก็ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการประกันคุณภาพ

หลังจากที่สะพานเปิดใช้งานแล้ว ผู้บัญชาการทหารเขตหนันจิง สี่ว์ ซื่อโหยว ยังได้นำรถถังนับร้อยคันมาแล่นทดสอบความทนทานพื้นถนนบนสะพาน

ไม่กี่ปีมานี้ มีการถกเถียงเกี่ยวกับสะพานฉังเจียงหนันจิง ด้วยความสูงสะพาน 24 เมตร ทำให้เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ไม่อาจแล่นรอดสะพานได้ ถึงขนาดมีผู้เสนอให้ระเบิดสะพานทิ้ง นอกจากนี้ ตัวสะพานยังมีร่องรอยแตกร้าวหลายจุด นับจากปี 2547 เป็นต้นมา ก็มีการซ่อมแซมหลายครั้ง และในปี 2550 ผู้เชี่ยวชาญด้านสะพานแห่งมหาวิทยาลัยถงจี้ได้ดำเนินการตรวจสอบตัวสะพานฉังเจียงหนันจิงอย่างถี่ถ้วน และสรุปว่า ‘โครงสร้าง’ สะพานยังอยู่ในสภาพดี แต่ส่วนประกอบอื่นโดยเฉพาะพื้นถนนมีจุดเสียหายหลายแห่ง จนในปี 2551 มีการบูรณะใหญ่สะพานแห่งนี้
สะพานฉังเจียง นครอู่ฮั่น
สะพานฉังเจียงแห่งอู่ฮั่น

สะพานฉังเจียงแห่งนครอู่ฮั่นนับเป็นสะพานจอมอึด ถูกชนหลายครั้งก็ยังยืนหยัดรับใช้ประชาชน อายุสะพาน 54 ปี ความยาว 1,156 เมตร

เหตุแห่งความแข็งแกร่ง ใช้หินที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีล้ำหน้า

เทคโนโลยีที่ใช้สร้างสะพานแห่งนี้เสมือน ‘การสร้างฟัน’ โดยขั้นแรกเจาะพื้นหินในแม่น้ำ จากนั้นจึงลงเสา และยังใช้คอนกรีตห่อหุ้มอีกชั้น

เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุใหญ่เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่หมื่นตันชนสะพานฉังเจียงอู่ฮั่น โดยชนเข้าที่ตอม่อ หมายเลข 7 หลังจากชนฯ เจ้าหน้าที่พบความเสียหายที่ตอม่อหมายเลข 7 เป็นรอยสีขาวๆดำๆ นอกจากนั้นก็ไม่พบปัญหาอื่นใด

สะพานฉังเจียงอู่ฮั่นสร้างเสร็จเมื่อเดือนต.ค. ปี 2500 ผู้ออกแบบกล่าวในตอนนั้นว่า “สะพานฉังเจียงอู่ฮั่นเป็นสะพานที่ล้ำหน้าของโลก ทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านคุณภาพการก่อสร้าง”

ระหว่างการก่อสร้างสะพานฯ มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมากมายของจีน ทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโซเวียตก็มาให้คำแนะนำช่วยเหลือ

ในตอนนั้น ผู้เชี่ยวชาญโซเวียต ได้ใช้วิธี pneumatic caisson method ที่คิดค้นขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

เฉียน เสวียซิน วิศวกรสะพาน อธิบายว่าเหมือนการปลูกฟันในคน โดยก่อสร้างเสา 10 กว่าที่ก้นแม่น้ำ จากนั้นจึงก่อตอม่อ

การรับประกันความแข็งแรงและยืดอายุการใช้งานสะพานนั้น ขึ้นอยู่กับ 1) การรักษา และ2) การจัดการ

ในทุก 10 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบสภาพภายนอกทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน 1 ครั้ง และทุกปีจะต้องการมีตรวจสอบทั่วไป 1 ครั้ง

จากการใช้งาน 50 กว่าปี แม้ถูกชน 70 กว่าครั้ง แต่สะพานก็ยังคงความเสถียร สามารถรองรับการเดินรถทั้งรถไฟและรถยนต์อื่นๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น