เอเจนซี - หน่วยงานยูเอ็นรับรองสิทธิ์สำรวจแหล่งแร่ซัลไฟด์ใต้ทะเลแก่จีน นับเป็นประเทศแรกๆที่ได้รับสำรวจทรัพยากรบริเวณแนวสันเขามหาสมุทรอินเดีย
สำนักข่าวไชน่าเดลี อ้างแหล่งข่าว สมาคมการพัฒนาและวิจัยทรัพยากรในมหาสมุทรแห่งจีน (China Ocean Mineral Resources Research and Development Association -COMRRDA) เผยเมื่อวันพุธ(3 ส.ค.) องค์การพื้นดินใต้ทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority-ISA) ได้อนุมัติคำขอของจีนในการสำรวจแหล่งแร่ซัลไฟด์ (polymetallic sulphides) อันอุดมด้วยแร่ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี ทองคำ และเงิน ในบริเวณแนวสันเขามหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Indian Ocean Ridge)
COMRRDA ระบุว่า จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับสิทธิ์ขุดค้นทรัพยากรบริเวณมหาสมุทรอินเดียซึ่งแบ่งพรมแดนระหว่างทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกา
จิน เจียนไฉ เลขาธิการของ COMRRDA เผย “กระบวนการกลั่นแร่จากซากที่ทับถมจะช่วยให้จีนเพิ่มปริมาณแร่ให้เพียงพอตามต้องการ เพื่อให้ป้อนทันการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวเร็ว”
รายงานฯ ระบุว่า จีนจะได้รับอนุญาตให้สำรวจพื้นที่ใต้ทะเล 10,000 ตร.กม. เป็นเวลา 15 ปี และจะได้รับสิทธิสัมปนาทานการทพเหมืองเป็นรายแรกๆ ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวคาดว่าจะลงนามอย่างเป็นทางการในเดือนพ.ย.ปีนี้
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ใต้ทะเล ซึ่งคาดว่ามีแร่โลหะจำนวนมาก ทั้งทองคำเงิน ตะกั่ว สังกะสี และทองแดง ISA ประเมินว่าแหล่งแร่ซัลไฟด์แห่งหนึ่ง อาจมีแร่เหล็ก 110 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม มีเพียง 5 เปอร์เซนต์ของพื้นที่สันเขาใต้ทะเล 60,000 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่ามีแหล่งแร่ และยังไม่มีการสำรวจในรายละเอียดในบริเวณนี้
ISA ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติชี้ว่า ได้อนุมัติให้จีนสามารถสำรวจแหล่งแร่ทางทะเลลึกในเดือนที่ผ่านมาพร้อมด้วยประเทศอื่น ๆ อาทิ รัสเซีย และบรรดาชาติในหมู่เกาะแปซิฟิกอื่น ๆ ทั้งนาอูรู และตองโก
COMRRDA ยังได้สิทธิสัมปทานสำรวจสินแร่ที่เป็นแกนปม(แร่) ซึ่งมีแร่เหล็ก บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่จีนได้ทดลองยานใต้น้ำขนาดเล็ก 'เจียวหลง' ชนิดคนขับ ที่สามารถปฏิบัติการในระดับความลึกถึง 5,188 เมตรเมื่อเร็วๆนี้
จีนแสวงหาทรัพยากรน้ำมัน แร่ธาตุ และทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับชี้ว่ายานใต้น้ำขนาดเล็กจีนฯนี้ มีเป้าหมายดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การขุคค้นทรัพยากรอย่างสันติ และการใช้ทรัพยากร
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า พื้นมหาสมุทรอันอุดมไปด้วยซากทับถมนั้นมีแร่ธาตุอันมีค่าอยู่มากมาย แต่หากอยู่ในระดับน้ำที่ลึกเกินไป ก็เป็นการยากที่จะสามารถนำแร่เหล่านั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้