xs
xsm
sm
md
lg

UN ชี้ จีนผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่คุมขังหลิว เสี่ยวปัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ – กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน ออกมาประท้วงเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวหลิว เสี่ยวปัว เมื่อปลายปี 2553 (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้จีนปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลิว เสี่ยวปัว เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและภรรยาเมื่อปีที่ผ่านมา ชี้ การกักขังทั้ง 2 คนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการกักขังที่ไม่มีกฎเกณฑ์ (UN Working Group on Arbitrary Detention) วิพากษ์วิจารณ์การกักขังหลิว เสี่ยวปัว ว่า “ก่อนตัดสินจำคุก 11 ปีในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐเมื่อปี 2552 หลิวไม่สามารถติดต่อกับผู้ใดได้เลย แม้กระทั่งทนายความ”

หลิว เสี่ยวปัว วัย 55 ปี ถูกตัดสินจำคุก 11 ปี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา (2552) หลังจากที่เขาเคลื่อนไหวการปฏิรูปการเมืองในประเทศจีน โดยเผยแพร่ร่าง “กฎบัตร 08″ ที่ปลุกกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน ซึ่งทางการจีนถือว่า เป็นการกระทำที่ยั่วยุให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ ซึ่งการพิพากษาฯดังกล่าว ได้โหมกระพือความความโกรธนานาชาติ

หน่วยงานสหประชาชาติฯ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน 5 ชาติ ได้เรียกร้องให้ปักกิ่งให้แก้ไขสถานการณ์ ซึ่งหมายถึงให้ปล่อยตัวและฟื้นฟูจิตใจหลิว เสี่ยวปัว ทันที

แถลงการณ์เรียกร้องดังกล่าวฯ ซึ่งเขียนโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน Freedom Now ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2554 แต่เพิ่งจะเปิดเผย (1 ส.ค.) ระบุว่า “รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะจับกุมตัวหลิว เสี่ยวปัว”

ในแถลงการณ์ระบุ จีนได้ละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พร้อมชี้ว่า ในการไต่สวนคดีของนายหลิว เสี่ยวปัว ซึ่งนานถึง 2 ชั่วโมง นายหลิวมีเวลาแก้ต่างให้ตนเองเพียง 14 นาที

หน่วยงานสหประชาชาติได้วิจารณ์กรณีการกักบริเวณนางหลิว สยา ภรรยาของหลิว เสี่ยวปัว ให้อยู่แต่ในบ้านว่า “ก่อนการตัดสินของศาล นางหลิว สยา มีสิทธิที่จะถูกนำตัวไปฟังการพิจารณคดี และมีสิทธิ์ที่จะเรียกทนาย แต่เธอกลับถูกกักขังอยู่ที่บ้าน”

Jared Genser ผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชน Freedom Now ได้ขอให้ยูเอ็นวิพากษ์วิจารณ์จีนว่า การกักขังหลิว และภรรยา ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมได้เรียกร้องให้นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมการเรียกร้องดังกล่าว

จีนประณามคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ว่า การตัดสินมอบรางวัลฯให้กับนักโทษจีน เท่ากับโนเบลสนับสนุนอาชญากรรม และจีนตอบโต้ด้วยการปฏิเสธทุกการเจรจากับนอร์เวย์ รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น