เอเจนซี-หากกล่าวถึงแหล่งทรัพยากรน้ำมันสำรองสำคัญนอกเหนือจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว รัฐอัลเบอร์ตา (Alberta) ประเทศแคนาดา ก็ถือเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่อันดับสามของโลก มีปริมาณน้ำมันสำรอง มากกว่า 170,000 ล้านบาร์เรล แหล่งน้ำมันที่อัลเบอร์ตานี้เป็นทรายน้ำมัน(oil sands) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดหนึ่งสามารถสกัดน้ำมันดิบคุณภาพดี และเป็นที่หมายตาของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน
สหรัฐฯ มองว่าแหล่งน้ำมันทางตอนเหนือของรัฐอัลเบอร์ตาจะสามารถตอบสนองความต้องการทางพลังงานของสหรัฐฯ ในอนาคตได้ ขณะที่จีนก็พร้อมทุ่มทุนลงทุนในแหล่งน้ำมันเพื่อสนองความต้องการพลังงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจแซงสหรัฐฯ สักวันหนึ่ง
ปริมาณทรายน้ำมันอัลเบอร์ตานี้มีมากพอที่จะขายให้กับทั้งจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่การผลิตหรือแยกน้ำมันดิบจากชั้นทรายนี้ก็ต้องสร้างท่อส่งอย่างน้อยสองแห่ง โดยแห่งหนึ่งสร้างจากทางด้านใต้ไปยังชายฝั่งอ่าวเท็กซัส ส่วนอีกแห่งหนึ่งจะสร้างในเขตตะวันตกไปยังชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในรัฐบริติช โคลัมเบีย
แต่บรรดาหน่วยงานและองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆได้เตือนการพัฒนาแหล่งทรายน้ำมันจะทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการสกัดแยกน้ำมันออกจากชั้นทรายนั้นส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจก กลุ่มคัดค้านฯชี้ว่าน้ำมันจากแหล่งทรายน้ำมัน เป็น “น้ำมันสกปรก”
รัฐบาลวอชิงตันคำนึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงยังมิได้อนุมัติโครงการสร้างท่อส่งดังกล่าว แต่หากสหรัฐฯ ชักช้า ก็อาจจะสูญเสียทรัพยากรแห่งนี้ไปให้กับจีน เพราะเพียงหนึ่งวันอัลเบอร์ตาสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 1.5 ล้านบาร์เรล และคาดกันว่าความสามารถการผลิตน้ำมันจากแหล่งอัลเบอร์ตา จะเพิ่มเป็นสามเท่า เท่ากับ 3.7 ล้านบาร์เรล ในปีพ.ศ. 2568
ขณะนี้วิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่ของรัฐบาลจีน คือ ชิโนเปก (Sinopec) ได้ร่วมทุนกับบริษัทน้ำมัน Enbridge แห่งอัลเบอร์ตา มูลค่าสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่อส่งน้ำมันสายNorthern Gateway Pipeline จากอัลเบอร์ตาไปยังชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยนาย Lloyd Snelgrove เจ้าหน้าที่การคลังระดับสูงของอัลเบอร์ตายังได้พบปะกับผู้บริหารบริษัทชิโนเปก และวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่ของจีนอีกราย คือซีนุก (CNOCC) หารือการพัฒนาแหล่งน้ำมันฯ โดยฝ่ายจีนเสนอตอบสนองคู่หุ้นส่วนการลงทุนทุกอย่าง ทั้งเงินและผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของนาย Snelgrove
แต่นาย Ed Stelmach นายกเทศมนตรีรัฐอัลเบอร์ตากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแสดงความวิตกกังวลต่อการสร้างท่อส่งน้ำมันไปยังแปซิฟิก พวกเขาถามว่า “คุณยังสามารถส่งน้ำมันให้เราได้ต่อไหม?” อย่างไรก็ดี นาย Stelmach ย้ำว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นผู้บริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของแคนาดา
ด้านนายจัง จวินไซ่ เอกอัครราชทูตจีนประจำแคนาดา กล่าวว่าจีนต้องการลงทุนในแคนาดาด้วยเม็ดเงินมหาศาล การที่บริษัทการลงทุนแห่งจีน (China Investment Corp.-CIC) ซึ่งมีเงินในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ได้เลือกเปิดสำนักงานในโตรอนโตนั้น นับเป็น “สัญญาณที่ดีมาก”
นอกจากจะมีหุ้นกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์ในโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันสาย Northern Gateway Pipeline แล้ว ชิโนเปกยังทุ่มเงินอีก 4,600 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้นร้อยละ 9 ของบริษัท Syncrude Canada ซึ่งมีโครงการทรายน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในแคนาดา
ต่อประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างจีน - แคนาดานั้น นายวิลเลียม โคเฮน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ สมัยบิลล์ คลินตัน กล่าวว่าความร่วมมือนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยวิธีทางการทูตในลักษณะที่ “ไม่เป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกา” ด้วย กล่าวคือแม้แคนาดามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ “แคนาดาก็ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ผมเชื่อว่าจะมีการหารือเรื่องนี้ในอนาคต” นายโคเฮนกล่าวที่โตรอนโตภายหลังการอภิปรายสาธารณะเรื่องจีนจะครอบงำศตวรรษที่ 21 หรือไม่
แต่อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแคนาดา นาย Eddie Goldenberg ก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่า “เราไม่ใช่มลรัฐที่ 51 ของอเมริกา นี่ไม่ใช่ธุระกงการของสหรัฐฯ ที่จะมาตัดสินใจแทนว่าแคนาดาควรขายน้ำมันให้ใคร”.