ไชน่า เดลี่ - นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำระบุ ถึงเวลาเหมาะสมแล้ว ที่จีนจะเร่งผลักดันให้เงินหยวนผงาดขึ้นเป็นสกุลเงินสากล
ในการประชุมสุดยอดโกลบอล ทิงก์ แทงก์ครั้งที่ 2 (Second Global Think Tank Summit) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.) นาย หวง อี้ผิง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของศูนย์เพื่อการวิจัยเศรษฐกิจแห่งจีนของมหาวิทยาลัยปักกิ่งระบุว่า ขณะนี้ถึงเวลาเหมาะสมแล้ว ที่รัฐบาลจีนจะยกเลิกข้อจำกัดในการแปลงสกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินอื่น ๆตามบัญชีทุน ซึ่งจะทำให้เงินหยวนมีบทบาทสำคัญสำหรับการค้าและการทุนในระดับโลกต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อปี 2539 รัฐบาลจีนอนุญาตให้แปลงเงินหยวนเป็นเงินสกุลอื่นได้ในการทำการค้าระหว่างกัน แต่ใม่อนุญาตให้แปลงสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศเป็นสินทรัพย์ทางการเงินต่างประเทศในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา เนื่องจากเกรงจะกระตุ้นให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ศาสตราจารย์หวงเห็นว่า สภาพแวดล้อมเชิงมหภาคของจีน เช่นเงื่อนไขด้านการคลัง ระบบการเงิน และฐานะทางบัญชีในต่างประเทศของจีน อยู่ในภาวะที่ดีกว่าของชาติอื่น ๆ เช่นอินโดนีเชีย อินเดีย รัสเซียอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการเปิดเสรีบัญชีเงินทุนอาจมีการจำกัดการไหลของเงินทุนได้ เช่นการกำหนดให้การไหลของเงินทุนในระยะสั้นถูกควบคุมผ่านโครงการนักลงทุนประเภทสถาบันต่างชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ซื้อขายหุ้นกระดานเอในจีน (Qualified Foreign Institutional Investor)
ขณะที่เมื่อต้นเดือนนี้นาย จอห์น ลิปสกี้ รักษาการณ์กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า เงินหยวนจำเป็นต้องแปลงเป็นเงินสกุลอื่นได้อย่างเสรีมากขึ้น และนำมาใช้ในการค้าอย่างกว้างขวางทั่วโลก จึงจะได้เข้าร่วมในระบบเอสดีอาร์ (Special Drawing Right) หรือระบบตระกร้าทุนสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ของไอเอ็มเอฟ
ด้านนายอู๋ เสี่ยวฉิว ศาสตราจารย์ด้านการเงินอาวุโสของมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งจีนกล่าวว่าจีนสามารถก้าวไปถึงขึ้นการแปลงสกุลเงินหยวนอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2558
ขณะที่ธนาคารโลกระบุในรายงานเมื่อเดือนพ.ค.ว่า เงินหยวนอาจกลายเป็นสกุลเงินหลักของโลกร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโรภายในปี 2568 ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางราย เช่นนาย โรนัลด์ แม็คคินนอน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แสดงความวิตกว่า หากมีการแปลงเงินหยวนได้อย่างเต็มรูปแบบ และการอนุญาตให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด จะก่อให้เกิดแรงกดดันด้านสภาพคล่องอย่างมหาศาลแก่จีน ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และจะทำให้เงินเฟ้อ และฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์พุ่งสูงได้ โดยอัตราดอกเบี้ย ที่ใกล้กับศูนย์ในสหรัฐฯ อาจทำให้เกิด “เงินร้อน” ทะลักเข้าแดนมังกร ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของธนาคารกลางจีน ดังนั้น การควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนอาจเป็นสิ่งถูกต้องสำหรับจีน และจีนควรรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะลอยตัวอย่างเสรีได้ในอีก 2- 3 ปีข้างหน้า