เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ - กระทรวงต่างประเทศจีนเผยการพบปะกับผู้นำกลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลลิเบีย เมื่อวันพุธ (23 มิ.ย.) พร้อมแถลงหลังการพบปะฯ ว่า ฝ่ายกบฎลิเบียฯ เป็นคู่เจรจาที่สำคัญของจีน
หยัง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน แถลงหลังจากการพบปะกับ นายมาห์มูด จิบริล ผู้แทนพิเศษของฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลลิเบีย เนื่องจากขณะนี้ฝ่ายกบฎเริ่มได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้น และกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ค่อย ๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ หยังย้ำว่า “ฝ่ายจีนเรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างสันติวิธีเพื่อดับไฟขัดแย้งนี้”
จีนมั่นคงในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นมาหลายปี พร้อมกันนั้นจีนยังต่อต้านการใช้อิทธิพลกดดันชาติอื่น แม้ว่าชาติเหล่านั้นจะมีรัฐบาลย่ำแย่สักเพียงใด เช่น ซิมบับเว ซูดาน พม่า เกาหลีเหนือฯ เมื่อคณะมณตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงคะแนนในเดือนมี.ค.ให้อำนาจในการโจมตีกลุ่มกองกำลังของกัดดาฟีผู้นำลิเบียทางอากาศ จีนก็เลือกที่จะไม่ออกเสียงใด ๆ
การที่จีนเลิกเงียบงัน แล้วหันมาผูกสัมพันธ์กับฝ่ายกบฎ นั้นทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเมืองระหว่างประเทศอภิปรายกันมาก
เบน ซิมพ์เฟ็นดอร์เฟอร์ กรรมการผู้จัดการสมาคมทางสายไหม ประจำฮ่องกง เผยว่า “มันผิดปกติสำหรับจีนที่หันมาพูดคุยกับฝ่ายกบฎที่ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจโดยชอบธรรม แต่ก็ชัดเจนว่า จีนมีน้ำมันเป็นผลประโยชน์หลัก”
ลิเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้จีน จนกระทั่งปัญหาสงครามได้ทำให้การส่งออกชะงัก
หยัง กล่าวในแถลงการณ์ว่า จีนไม่ได้มองแต่ผลประโยชน์ของตนเท่านั้น จีนยังมองว่าปัญหาฯ เป็นเรื่องการเมืองภายในของลิเบียเอง จีนเชื่อว่า อนาคตการเมืองลิเบียต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนลิเบีย
แถลงการณ์เมื่อวันพุธชี้ว่า นายจิบริลได้ให้คำมั่นว่าฝ่ายกบฎจะให้การปกป้องประชาชนและทรัพย์สินของบริษัทจีนในพื้นที่ที่ฝ่ายกบฎยึดครอง
นายจิบริลดำรงตำแหน่งประธานบริหารของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบีย ประจำสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติของฝ่ายกบฏที่เมืองเบงกาซี
“เสียงวิพากษ์วิจารณ์กัดดาฟี ไม่ว่าจะมาจากฟากประเทศอาหรับ หรือผู้นำแอฟริกาเอง ทำให้จีนไม่อาจนิ่งเฉยได้ จึงตัดสินใจต้องมาติดต่อกับฝ่ายกบฎ” ซิมพ์เฟ็นดอร์เฟอร์ กล่าว
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติครึ่งหนึ่งจีนซื้อมาจากตะวันออกกลาง และขณะนี้ก็ซื้อเพิ่มจากซาอุดิอารเบีย และซื้อน้ำมันมหาศาลจากลิเบียมูลค่า 4,450 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะน้อยกว่าซาอุฯ ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ นายจัง จื้อเหลียง ทูตจีนประจำกาตาร์ พบปะกับผู้แทนของฝ่ายกบฎลิเบียที่กรุงโดฮา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นั่นก็เป็นสัญญาณว่าต่อไปนี้ “จีนยินดีพบปะกับผู้แทนของฝ่ายกบฎ”
จีนเชื่อว่า สภาถ่ายโอนอำนาจฯ ของฝ่ายกบฎจะขึ้นมามีความสำคัญในฐานะพลังทางการเมืองลิเบีย จีนจึงคงการติดต่อกับกลุ่มกบฎต่อไป” หง เล่ย กล่าวทิ้งท้าย