เอเจนซี่ - ครั้งหนึ่ง ทวีปแอฟริกาถือเสมือนเป็น“ห้องทดลอง” สำหรับการออกไปลงทุนยังต่างแดนของบริษัทเลือดมังกร
ทว่าการกระแสการลุกฮือโค่นล้มผู้นำ ที่กำลังระบาดแถบทวีแอฟริกาตอนเหนือ และภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ชาวตูนิเซียเรียกความสำเร็จในการล้มล้างผู้นำเผด็จการของตนว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” นั้น ทำให้จีนต้องคิดหนัก
เฉพาะแค่การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับฝ่ายกบฎในลิเบีย พญามังกรต้องอพยพแรงงาน เผ่นกลับบ้านถึง 36,000 คน ควักกระเป๋าจ่ายไปเหนาะ ๆ 3 พันล้านดอลลาร์ ทำเอาเหงื่อตก
เวลานี้พญามังกร ซึ่งมั่งคั่งด้วยเงินสดจากการส่งออกมานานหลายปี และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก กำลังประเมินดูว่า การโค่นอำนาจผู้นำในตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบีย ส่งผลเสียหายต่อการลงทุน และยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจของจีนในต่างแดนเพียงใด
“ ความวุ่นวายในแอฟริกาเหนือและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในลิเบียกำลังทดสอบยุทธศาสตร์ ‘การออกไปยังดินแดนไกลโพ้น”ของจีน” นายหวัง จิ้นหยัง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (Beijing Foreign Studies University) ระบุ
“นี่จะมีผลกระทบอย่างแน่นอนต่อทิศทางการลงทุนในต่างแดนของเราในอนาคต” เขาระบุ
ขณะที่แผนระยะ 5 ปีฉบับใหม่ของกระทรวงพาณิชย์จีน ซึ่งใกล้จะร่างแล้วเสร็จนั้น ยกให้เอเชีย และชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนของจีน
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงผู้หนึ่งระบุกับหนังสือพิมพ์ Economic Observer เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาว่า แม้ตัดประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองออกไป การลงทุนในแอฟริกาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“การเปิดเหมืองสักแห่งไม่ง่ายอีกแล้ว ตอนนี้คุณต้องคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การจ้างงานในท้องถิ่น และผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่นด้วย” เขากล่าว
ตรงกันข้าม มีการมองกันว่าเอเชียคือตลาด ซึ่งเติบโตเต็มที่ด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงทางการเมืองน้อยกว่า
สมาคมเอเชียในนิวยอร์กเผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อเดือนที่แล้ว คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนจะพุ่งถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 ขณะที่สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ลงทุนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์
วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 ทำให้บริษัทจีน รวมทั้งบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัฐ เช่น ปิโตรไชน่า ระบายเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในแอฟริกา ตะครุบแร่ธาตุ คว้าสัมปทานขุดเจาะแหล่งน้ำมันดิบ และเข้าถือหุ้นในบริษัทรายสำคัญ
จีนเข้าไปเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ถนน การโทรคมนาคมสื่อสาร โดยบริษัทเลือดมังกรราว 2,000 ราย มีเงินลงทุน เมื่อคิดรวมกันในแอฟริกาแล้วถึง 32,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2553
นอกจากนั้น เมื่อปีที่แล้วจีนยังเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่สุดของแอฟริกาอีกด้วย ทำให้หลายประเทศวิจารณ์ว่า จีนกำลังทำตัวเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่ เข้าไปตักตวงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันมั่งคั่งที่นั่น
ที่ลิเบีย ซึ่งพญามังกรเพิ่งเข้ายุ่งเกี่ยวเมื่อไม่นาน ลิเบียทำสัญญาโครงการด้านวิศวกรรมราว 50 โครงการร่วมกับบริษัทจีน นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนพ.ค. ชิโนชัวร์ (Sinosure) บริษัทประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกอย่างเป็นทางการของจีนเปิดเผยยอดการจ่ายเงินประกันสำหรับการลงทุนในทวีปแอฟริกาตอนเหนือและภูมิภาคตะวันออกกลางพุ่งถึง 167 % ในไตรมาสแรกของปี2554 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้กำลังพิจารณาการลงทุนในกาฬทวีปอย่างใกล้ชิดกว่าเดิม แต่การเข้ายุ่งเกี่ยวของพญามังกรที่นั่นยังห่างไกลจากคำว่า จบสิ้น
ขณะที่ลอว์เร็นซ์ บราห์ม คอลัมนิสต์การเมืองในกรุงปักกิ่งยังคิดว่า อภิมหาเกมการแข่งขันระหว่างจีนกับชาติตะวันตกจะบรรเลงกันในกาฬทวีปนั่นแหละ