xs
xsm
sm
md
lg

มองโกเลียใน ดินแดน(เคย) สงบ กับรอยแปลกแยกใต้ผืนดินอุดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยต่อของเขตพื้นที่เลี้ยงสัตว์อันกว้างไพศาลในเขตมองโกเลียใน กับชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมเหมืองที่ขยายรุกมากขึ้นทุกที (ภาพเอเยนซี)
การชุมนุมประท้วงของชาวมองโกลหลายร้อยคนตามเมืองต่าง ๆ ในมองโกเลียใน ซึ่งเกิดต่อเนื่องมานาน 5 วันในช่วงสัปดาห์ ที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางภาคเหนือของจีนแห่งนี้ และดูท่าว่ากำลังจะทำลายความหวังของผู้นำจีน ที่ต้องการให้ที่นี่เป็นต้นแบบของความสมานฉันท์

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 พ.ค.) ชาวมองโกเลียเกือบ 100 คน รวมตัวประท้วงที่จัตุรัสกลางกรุงอูลานบาตอร์ และด้านหน้าสถานทูตจีน แสดงความไม่พอใจหลังชาวมองโกล 2 คนเสียชีวิต เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จากการกระทำของคนงานเหมืองที่เป็นชาวฮั่น

ชนวนประท้วงในหลายๆ เมือง ถูกจุดขึ้น จนการเป็นการชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมองโกล รอบ 20 ปี โดยรัฐบาลระดมกำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าไปคุมความสงบ ในเมืองฮูฮอต เมืองเอกของเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ตัดสัญญาณระงับการใช้อินเทอร์เน็ต และจำกัดกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นการรวมตัวของผู้ประท้วง และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายเป็นการจลาจลนองเลือดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองทิเบต และเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียงเมื่อปี 2551 และ2552 ที่ผ่านมา
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 พ.ค. โดยนักกลุ่มนักสิทธิฯ แสดงให้เห็นเหตุจลาจลการปะทะระหว่างชาวมองโกเลียนพร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษา ในเขตปกครองตนเองชนชาติมองโกเลียใน (ภาพเอเอฟพี)
มูลเหตุแห่งความวุ่นวายอันเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียวนี้ เริ่มมาจากการเสียชีวิตของคนเลี้ยงสัตว์ชาวมองโกลผู้หนึ่งเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนหน้า เขาถูกรถบรรทุก ซึ่งชนเชื้อสายฮั่นขับมาแล่นทับ ต่อมา ผู้ขับรถบรรทุกรายนี้ได้ถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหา เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี จากการเปิดเผยของศูนย์ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนแห่งมองโกเลียทางใต้ (the Southern Mongolian Human Rights Information Centre) ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในสหรัฐฯ

การเสียชีวิตของคนเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว ได้โหมกระพือความรู้สึกต่อต้านการปกครองของจีน ที่อัดแน่นมานานให้ลุกฮือขึ้น โดยชนเชื้อสายมองโกลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งมีวัฒนธรรมและภาษาที่ผูกพันกับสาธารณรัฐมองโกเลีย มองว่า พวกตนถูกชาวจีนฮั่น กดขี่ข่มเหงทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนถูกรุกล้ำทุ่งนาเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิถีการทำมาหากินตามธรรมเนียม ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาของตน เพื่อให้ชนเชื้อสายฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในจีน เข้ามาทำเหมืองแร่ และขุดเจาะแหล่งพลังงาน

นอกจากนั้น ชาวมองโกลมากมายยังรู้สึกโกรธแค้น ที่เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Hada นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ผู้โดดเด่นที่สุดของชาวมองโกล ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวอีกครั้ง พร้อมกับภรรยาและบุตรชาย หลังจากเขาเพิ่งพ้นโทษจองจำในคุกอยู่นาน 15 ปี

การประท้วงครั้งนี้ จึงถูกมองว่า เป็นมากกว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิตทั้งสอง แต่คือการประท้วงช่าวจีนที่เข้ามาหาประโยชน์จากการทำเหมืองถ่านหิน ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยไม่เคารพต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งปมปัญหาอันอ่อนไหวเช่นเดียว กับความขัดแย้งที่เกิดกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในจีน ทั้งกับชาวทิเบต และชาวมุสลิมอุยกูรย์ ในซินเกียง
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 พ.ค. โดยนักกลุ่มนักสิทธิฯ แสดงให้เห็นเหตุจลาจลการปะทะระหว่างชาวมองโกเลียนพร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษา ในเขตปกครองตนเองชนชาติมองโกเลียใน (ภาพเอเอฟพี)
สำหรับความไม่สงบนี้ ในมุมของทางการและสื่อภายในประเทศ ต่างไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่ากับสื่อตะวันตก โดย พีเพิลเดลี สื่อของทางการฯ รายงานว่า ในแต่ละปี ทางการจีนได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ชาวปศุสัตว์มองโกลไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านหยวน เพื่อชดเชยและรักษาพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเงินเหล่านั้นช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนต่อปีแก่ชาวท้องถิ่นจาก 40,000 หยวน เป็น 70,000 หยวน

กวงหมิง เดลี ยังรายงานว่า รัฐได้เตรียมงบประมาณอีก 2,000 ล้านหยวน เพื่อโครงการวัฒนธรรมอื่นๆ ของชาวท้องถิ่น และทางการท้องถิ่น ได้ให้คำมั่นว่าจะตรวจตราดูแลควบคุมมลพิษ อันเกิดจากการทำเหมืองฯ

ขณะที่สื่อจีนส่วนใหญ่ หลีกเลี่ยงที่จะรายงานเหตุการณ์ประท้วง โดยโกลบอลไทม์ส กล่าวหาว่าสื่อต่างชาตินำเรื่องนี้ไปขยายผลให้ดูรุนแรงใหญ่โต ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เวลาเกิดความขัดแย้งไม่สงบระหว่างชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในซินเกียง และทิเบต กับชาวฮั่น ผู้นำจีน มักนำไปเปรียบเทียบกับชนกลุ่มน้อยมองโกล ซึ่งผู้นำจีนต่างถือเป็นต้นแบบของการสร้างเศรษฐกิจกระแสหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาความสงบและสมานฉันท์กับประชาชนท้องถิ่นนั้นได้ด้วย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ประธานาธิบดีจีน หูจิ่นเทา ถึงกับกำชับเจ้าหน้าที่ให้ลดความขัดแย้งตึงเครียดในสังคม และเร่งสร้างความเป็นธรรม

เศรษฐกิจอาจจะทำให้ชาวมองโกลร่ำรวยขึ้น แต่ก็มีจำนวนมากที่สูญสิ้นวิถีชีวิต และการงานอาชีพซึ่งทำมาแต่ดั้งเดิม พร้อมกับเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มไม่รู้จักความหมายของชนชาติมองโกเลีย และผืนดินอันมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เปรียบเสมือนแหล่งขุดทองของชาวฮั่นที่ย้ายถิ่นหนีความยากจน รุกเข้าไปทำมาหากิน หลังรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในดินแดนนี้
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยกลุ่มนักสิทธิฯ ชาวมองโกเลียนคนหนึ่งโบกสะบัดธง เรียกร้องสันติภาพและเสรีภาพให้แก่มองโกล (ภาพเอเอฟพี)
ล่าสุด จากสถิติของทางการฯ พบว่า การผลิตถ่านหินในเขตนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่า จากเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นผู้นำการผลิตพลังงานหลักของประเทศนี้ ด้วยกำลังผลิตถ่านหินที่มากถึง 782 ล้านตัน เมื่อปีกลาย

ปัจจุบันนี้ ประชากรในเขตมองโกเลียใน มี ราว 24 ล้านคน เป็นสัดส่วนของชาวมองโกลอยู่ร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษามองโกเลียไม่ได้แล้ว อันเป็นผลมาจากนโยบายการศึกษาของรัฐ ชะตากรรมเดียวกับชาวทิเบต และชาวมุสลิมอุยกูร ในซินเกียง

หลายคนจึงมองว่า ความพยายามช่วยเหลือบางอย่างของรัฐ กลับยิ่งไปสร้างความแปลกแยก และพื้นที่ทำกินดั้งเดิมเริ่มลดน้อยลง ขณะที่กิจการเหมืองแร่ ก็ตกเป็นของชาวฮั่นสิ้น ครั้นจะย้ายถิ่น เร่ร่อนไปยังพื้นที่ข้างเคียง ก็ต้องพบอุปสรรคทั้งการสร้างผลผลิต และเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสัตว์สู่ตลาด

ในระดับปัจเจกบุคคล การบูมของกิจการเหมืองถ่านหิน ก็เป็นชนวนของการทะเลาะวิวาทครั้งล่าสุดนี้เช่นกัน เมื่อคนเลี้ยงสัตว์ชาวมองโกล โกรธที่คนงานเหมืองขับรถบรรทุกทำพื้นที่ทำกินของตน จึงออกไปขวางรถบรรทุก และถูกคนงานเหมืองขับรถทับจนเสียชีวิต อันนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น อันทำให้มีชาวมองโกลเสียชีวิตไปอีกหนึ่งคน

เมื่อเหตุการณ์ขยายวงออกไป เจ้าหน้าที่ได้จับกุมชาวจีนฮั่นทั้งสองคน และแจ้งข้อหาฆาตกรรมแก่กรณีที่สอง อันถือว่ารัฐให้ความสำคัญมากพอสมควร แต่เรื่องจะจบหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความขัดแย้งระดับบุคคล

เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ สื่อฮ่องกง อ้างชาวปศุสัตว์มองโกเลียคนหนึ่งที่ปฏิเสธจะเผยชื่อ ซึ่งกล่าวว่า "การประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความคับแค้นที่อัดอั้นอยู่ภายในมาเป็นเวลานาน การทำเหมืองถ่านหิน สร้างผลประโยชน์มหาศาล แต่นำความวิบัติมาสู่ชาวปศุสัตว์ มองโกล ความเป็นจริงตามข้อมูลของ Economic Information Daily คือ พื้นที่ทำกินเลี้ยงสัตว์ ลดน้อยลงร้อยละ 2 ในแต่ละปี และที่มีอยู่ก็สร้างผลผลิตไม่ได้มาก เพราะที่นี่ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราประท้วงเพียงเพราะอยากให้รัฐบาลได้ยิน ได้ฟังเรา และมาตรการช่วยเหลือของรัฐนั้น ยังไม่ไปถึงมือชาวปศุสัตว์มองโกลอย่างแท้จริง"
กำลังโหลดความคิดเห็น