xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจีนโวย “ภัยแล้ง ธรรมชาติทราม” เพราะปัจจัยมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือได้แต่จอดอยู่บนพื้นดิน แทนที่จะลอยอยู่เหนือน้ำในทะเสาบปั๋วหยัง เมื่อน้ำลดลงกว่าร้อยละ 87 ส่งผลให้พื้นดินตรงกลางโผล่ขึ้นมา (ภาพเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์/ ซินหวา - ชาวบ้านรอบ ๆ ทะเสสาบปั๋วหยัง โวยเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุที่ทำให้ภัยแล้งทรุดหนักหาใช่อื่นไกล ตัวการที่แท้ก็คือมนุษย์นั่นเอง

ชาวบ้านเผยว่า ปัจจัยภัยแล้งที่ไม่ใช่สภาพอากาศ ได้แก่ ปัญหาการจัดการเขื่อนสามโตรก ปัญหารัฐบาลให้เงินงบประมาณปรับปรุงชลประทานไม่เพียงพอ และปัญหามลภาวะ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งอย่างหนักหน่วง กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ยากลำบากขึ้น

พื้นที่บริเวณทะเลสาบปั๋วหยัง มณฑลเจียงซี น้ำลดลงไปถึงร้อยละ 87 ส่วนตรงกลางทะเลสาบกลายเป็นผืนดินโผล่ขึ้นมามีหญ้าเขียว ๆ ขึ้นเต็มไปหมด ที่แย่กว่านั้น ข้าวกล้าที่หว่านไว้พากันแห้งตาย เนื่องจากขาดน้ำ ที่ได้จากการผันจ่ายจากระบบชลประทาน

กง จี้หลิว ชาวบ้านหมู่บ้านฉังหู ชี้ว่า “ต้นกล้าตายหมด เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ เราก็ต้องหว่านซ่อมกันใหม่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังจากที่เราคอยหวังว่าฝนจะตกมาช่วยชาวนา การทำนาเป็นรายได้หลักของครอบครัว เราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่สวดอ้อนวอนขอให้ฝนตกลงมาช่วยชีวิต”

รัฐบาลกลางรับทราบปัญหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปัญหาการปล่อยน้ำของเขื่อนสามโตรกได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำแยงซี การชลประทาน และการจ่ายน้ำสำหรับส่วนกลางและล่างของแม่น้ำด้วย

หลี่ หรงเต๋อ หัวหน้าหมู่บ้านหยังเจียกัง ในอำเภอหูโข่ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำจากทะเลสาบปั๋วหยัง ไหลเชื่อมกับแม่น้ำแยงซี ชี้ว่า “ปัญหาทุกวันนี้ชาวบ้านแปลกใจมากที่เกิดภัยแล้ง เพราะมณฑลเจียงซีซึ่งเป็นฐานผลิตฝ้ายมากสุดแห่งนี้ ไม่เคยเลยที่จะขาดแคลนน้ำมาก่อน”

หลี่ชี้ว่า “ในฤดูนี้ทุกปีที่ผ่านมา น้ำฝนจะเจิ่งนองไปหมด และน้ำในทะเลสาบก็จะสูง แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบฉับพลัน พวกเราชาวบ้านคิดว่ามันต้องเกิดอะไรขึ้นกับเขื่อนสามโตรกแน่ ๆ ที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดต่ำเป็นประวัติการณ์จนชาวบ้านไม่พออุปโภคบริโภค”

หมู่บ้านหยังเจียกังต้องนำท่อส่งน้ำ 500 ท่อ กับปั๊มน้ำมาสูบน้ำส่งเข้าหมู่บ้านวันละ 80 ตัน เพื่อหล่อเลี้ยงกว่า 300 ครอบครัว “พวกเรารู้ดีว่า น้ำจากแม่น้ำไม่สะอาดพอจะดื่มได้ในช่วงนี้ แต่พวกเราก็ต้องจำใจดื่มด้วยการนำสารฆ่าเชื้อโรคมาเติมลงในน้ำ” หลี่อธิบาย

ระบบชลประทานดำเนินการสร้างเกือบทั้งหมดในทศวรรษ 1980 แต่เนื่องจากการดูแลรักษาย่ำแย่ทำให้ภาวะขาดแคลนน้ำแย่หนักลงไปอีก “ต้องใช้งบประมาณราว 800,000 หยวนในการซ่อมระบบชลประทานในหมู่บ้านฯ และมันแพงมากจนบ้านรับภาระนี้ไม่ไหว” หลี่กล่าว

ชาวบ้านต้องเดินเป็นระยะทางไกลมากทุก ๆ วัน เพื่อไปตักน้ำจากทะเลสาบที่แห้งขอดมารดต้นฝ้ายและแปลงผัก

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปล่อยน้ำจากเขื่อนสามโตรกมาช่วยและมีฝนตกหนักในไม่กี่วันมานี้ แต่นั้นก็เป็นเพียงสัญญาณเล็ก ๆ ที่จะมาบรรเทาภัยแล้งในระยะสั้นเท่านั้น

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของจีน เผยวานนี้ (29 พ.ค.) ว่า อีก 2 วันข้างหน้าจะมีฝนตกเพียงเล็กน้อยในบริเวณลุ่มน้ำแยงซีตอนกลางและตอนล่าง และอากาศแห้งจะปกคลุมต่อเนื่องหลังจากนั้นแม้จะมีฝนตกประปรายบ้างก็ตาม นอกจากนั้นพยากรณ์อากาศยังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดหาแหล่งน้ำฉุกเฉินสำหรับชาวบ้านและอุตสาหกรรมการผลิตด้วย

ชาวบ้านเผยว่า พวกเขากังวลเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต เจ้า ซย่าหรง จากหมู่บ้านเจียงซิน ชี้ว่า “ภัยแล้งได้ทำลายความหวังสำหรับการเก็บเกี่ยวไปแล้ว เมื่อพืชผลโตช้าลงกว่าปกติ เนื่องจากได้รับน้ำไม่เพียงพอ เก็บเกี่ยวไม่ได้ก็ทำให้ชาวบ้านมีหนี้สิน”

“หากภัยแล้งไม่ลดลงในเดือนหน้า ไร่ฝ้ายกว่า 5,000 แห่งในหมู่บ้าน จะเสียหายอย่างแน่นอน” หลี่ฟันธง

อี๋ว์ ไช่หนาน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเทศบาลซาหูซาน ชี้ว่า ชาวนาเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยธรรมชาติ อย่างภัยแล้งและน้ำท่วม แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าจะสร้างภาคเกษตรให้ทันสมัย เรื่องเศร้าก็คือพวกเรายังคงต้องพึ่งสวรรค์ ได้แต่สวดภาวนา เพราะเราไม่มีวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาภัยแล้งเลย

นอกจากนั้น มลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่ปล่อยออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ พื้นที่ก็ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำอย่างหนักด้วย อี๋ว์ปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น