xs
xsm
sm
md
lg

จีนคลอดแผนบรรเทาผลกระทบ “เขื่อนสามโตรก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ – การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนสามโตรกเพื่อบรรเทาอุทกภัย ณ เมืองอี๋ชัง มณฑลหูเป่ย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2553 (ภาพเอเอฟพี)
ไชน่าเดลี - จีนแถลงเมื่อวันพุธ (18 พ.ค.) ว่า โครงการสร้างเขื่อนสามโตรก ซึ่งเป็นเขื่อนพลังน้ำใหญ่สุดในโลกของจีนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ การชลประทาน และการจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ส่วนล่างของแม่น้ำแยงซี

คณะมุขมนตรีจีนได้ผ่านแผนโครงการปฏิบัติงานในอนาคต เกี่ยวกับการลดผลกระทบจากเขื่อนสามโตรก และการป้องกันบรรเทามลพิษทางน้ำในทางหุบเขาตอนล่างของแม่น้ำแยงซีด้วย

แถลงการณ์หลังการประชุมฯ ชี้ว่า โครงการยักษ์ใหญ่นี้ก็ยังคงเผชิญปัญหาว่า จะแก้ปัญหาปัจจุบันทันด่วนเฉพาะหน้านี้อย่างไร อาทิ การแก้ปัญหาประชาชนที่ถูกบังคับย้ายที่อยู่เนื่องจากการสร้างเขื่อนฯ การป้องกันระบบนิเวศ ตลอดจนปัญหาที่เกี่ยวกับดิน

แถลงการณ์ยังระบุว่า ปัญหาบางอย่าง ก่อนการสร้างเขื่อนก็ได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องเกิด แต่พอสร้างจริง ๆ กลับมีปัญหาอื่น ๆ ที่เกินความคาดหมายผุดขึ้นมาอีกมาก

โครงการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก เริ่มต้นเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ลุล่วงในเบื้องต้นในปี 2552

หวัง จิ้งเฉวียน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการควบคุมปัญหาอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำแยงซี เขาได้บอกกับไชน่าเดลี (18 พ.ค.) ว่า “สำหรับปัญหาด้านชลประทานและการจ่ายน้ำนั้น เกิดจากความต้องการน้ำมีมากขึ้นในช่วงตอนกลางของแม่น้ำแยงซี ในระหว่างที่กำลังดำเนินโครงการก่อสร้างอยู่”
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2553 ชายจีนกำลังเก็บขยะริมฝั่งแม่น้ำแยงซี ใกล้เขื่อนสามโตรก  (ภาพเอเอฟพี)
หวังชี้ว่า “ผีซ้ำด้ามพลอยเมื่อปัญหามลพิษทางน้ำเกิดขึ้น ได้ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีก”

นอกจากนี้ในเนื้อหาของโครงการใหม่ฯ นี้ จีนจะต้องรับมือกับปัญหาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นบริเวณตอนล่างของเขื่อนสามโตรกด้วย ไม่เฉพาะแต่ตัวเขื่อนเท่านั้น โดยรายละเอียดของโครงการฯ ระบุว่า จะทำให้การไหลเวียนของน้ำสม่ำเสมอ สร้างเขื่อนคันกันน้ำให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาทางน้ำไหลให้สะดวก และปรับปรุงระบบสูบจ่ายน้ำเพื่อการบริโภค ฯ

นอกจากนั้น แผนนี้ฯ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี 2563 ว่าจะยกมาตรฐานครองชีพประชาชนที่ต้องอพยพโยกย้ายที่อยู่เนื่องจากการสร้างเขื่อนให้ได้ พร้อมทั้งจัดสรรระบบประกันสังคม ยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม

นอกจากแผนแรกแล้ว การประชุมฯ ยังได้ผ่านแผนที่ 2 ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำในตอนกลางแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีเป้าหมายทำให้น้ำสะอาดในระดับที่สามารถดื่มได้

ยิ่งพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น เป็นเขตเมืองที่มีการพัฒนาแล้ว ยิ่งมีปัญหามลพิษทางน้ำมากขึ้นตามไปด้วย และรัฐบาลต้องแบกรับภาระนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น