เอเอฟพี - โศกนาฏกรรมภัยธรรมชาติครั้งประวัติการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งผลแก่ภาคการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและได้กลายเป็นประเด็นพูดคุยในงานแสดงรถยนต์ที่เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Auto Show) บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต่างวิตกว่า ภาวะชะงักงันของซับพลายชิ้นส่วนรถยนต์ จะเป็นไปอีกนานเท่าใด
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิโถมใส่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อซับพลายชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ ที่กระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก โดยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายราย ได้สั่งปิดโรงงาน หรือ ชะลอการผลิตรถยนต์ในประเทศต่างๆ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐฯ ตุรกี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย โปแลนด์ และฟิลิปปินส์
ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ เผยว่า "นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งรุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นลดลงมากกว่า 500,000 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 1 ล้านคัน"
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาอาจขยายวงกว้างกว่าที่คาด เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางใหญ่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญจำนวนมากก็ตั้งอยู่บริเวณที่ประสบภัยแผ่นดินไหว
คาร์ลอส ดา ซิลวา นักวิเคราะห์จากโกลบอล อินไซท์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า “ภายในเดือนเม.ย.2554 การผลิตรถยนต์ในจีนจะลดลงราว 25,000 คัน ในยุโรปจะลดลงราว 55,000 คัน และในอเมริกาเหนือจะลดลงราว 68,000 คัน”
สำหรับบริษัทโตโยตา ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เผยวันนี้(20 เม.ย.)ว่า ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. - 3 มิ.ย.2554 ทางบริษัทฯเตรียมลดการผลิตรถยนต์ในจีนประมาณ 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจะคงการผลิตรถยนต์ในจีนเพียง 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านี้ โตโยตาได้ระงับการผลิตรถยนต์ในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ เป็นต้น เนื่องจากปัญหาซับพลายชิ้นส่วนรถยนต์
พอล โนลาสโค โฆษกบริษัทโตโยต้า เผยว่า “การชะลอการผลิตในจีนครั้งนี้ จะส่งผลให้จำนวนรถยนต์โตโยตาหดหายไปถึง 80,000 คัน ขณะที่ ปริมาณการผลิตรถยนต์ในอเมริกาเหนือ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จะลดลงรวมทั้งสิ้นราว 540,000 คัน”
นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้า หากไม่สามารถฟื้นการผลิตให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้โดยเร็ว
อะกิโกะ โตโยดะ ประธานและซีอีโอบริษัทโตโยต้า กล่าวในงานเซี่ยงไฮ้ ออโต้ ว่า “เนื่องจากสถานการณ์ในญี่ปุ่น เราเกือบตัดสินใจไม่มาร่วมงานมหกรรมรถยนต์ที่เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ แต่ก็เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย”
สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นรายอื่นๆก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยนิสสันได้สั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกชั่วคราว
สถานการณ์ในญี่ปุ่นยังขยายผลถึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่นๆของโลก เจเนรัล มอเตอร์ หรือ จีเอ็ม แห่งสหรัฐฯ และบริษัทไครสเลอร์ ก็ลดปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐฯ
ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของยุโรปก็ได้รับหางเลขไปตามๆกัน โดยหน่วยผลิตของเรโนลต์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ได้ลดการผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้ ขณะที่ มิตซูบิชิ ฟูโซ่ บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในเครือเดมเลอร์ กำลังฟื้นฟูการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
พีเอสเอ เปอร์โยต์ ซีตรอง ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ได้ส่งพนักงานหลายพันคนกลับประเทศ เนื่องจากเกิดภาวะการชะงักงันของการซับพลายชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ฟิลลิป วาริน ประธานกรรมการบริหารของบริษัทพีเอสเอฯ เผยในงานเซี่ยงไฮ้ ออโต้ ว่า “ผลผลิตรถยนต์ในระยะสั้นยังคงดำเนินต่อไป”
ดา ซิลวา เผยว่า “โรงงานผลิตรถยนต์นอกญี่ปุ่นบางแห่งไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เนื่องจากพวกเขาใช้สต็อกชิ้นส่วนที่มีอยู่ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย สิ้นเดือนเม.ย.นี้ เราจะได้เห็นผลกระทบที่หนักขึ้น”