เอเอฟพี - ในที่สุดกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงที่ครองแชมป์มลภาวะย่ำแย่สุดในโลก ก็ได้คลอดแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี เมื่อวันอังคาร (19 เม.ย.) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดระดับมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการให้เลิกใช้พลังงานถ่านหินในโรงไฟฟ้า หรือการตั้งเป้าลดจำนวนวันที่มีมลภาวะทางอากาศย่ำแย่ลงให้ได้
กรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งปักกิ่ง แถลงว่า “ได้ตั้งเป้าหมายให้อากาศในแต่ละวันของปักกิ่งอยู่ในระดับดี จนถึงบริสุทธิ์แบบสุด ๆ ให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2558”
นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองให้ได้ประมาณร้อยละ 10 โดยเทียบกับปี 2553
จวง จื้อต้ง รองเจ้ากรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฯ เผยว่า “โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินเพื่อต้มน้ำให้เดือดเป็นไอไปหมุนมอเตอร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 6 เขตของปักกิ่งนั้น จะมีการยกเครื่องวัสดุกันใหม่ โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดแทนพลังถ่านหิน” จวงเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนอีก 3 ใน 4 แห่งในปักกิ่งก็จะทำการยกเครื่องโดยใช้พลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน”
นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งจะพยายามลดจำนวนรถยนต์เก่าที่ก่อให้เกิดมลภาวะลง 400,000 คัน ก่อนสิ้นปี 2558 และค่อย ๆ นำมาตรการจำกัดรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียเกินขนาดมาใช้ต่อไป
มลพิษในอากาศของกรุงปักกิ่งติดบัญชีดำ มลภาวะย่ำแย่สุดในโลก จากการจัดอันดับขององค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติ สืบเนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนน และการบริโภคพลังงานอย่างบ้าคลั่ง
ทางการจีนเผยว่า “จำนวนรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ที่ต่อทะเบียนกับรัฐบาลปักกิ่ง เมื่อสิ้นปี 2553 มีทั้งหมด 4,800,000 คัน และโดยเฉลี่ยเมื่อปีที่แล้ว มีรถยนต์ใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่เลนถนนในกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 2,000 คัน”
รัฐบาลปักกิ่งพยายามลดปัญหาเหล่านี้ ด้วยการออกกฎฯ ใหม่ ๆ เช่น กำหนดเงื่อนไขในปีนี้ว่าอนุญาตให้รถใหม่เพียง 240,000 คันเท่านั้นที่จะได้รับการต่อทะเบียน เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีรถใหม่ต่อทะเบียนถึง 800,000 คัน