xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจีนสั่งประหารอุยกูร์ อีก 7 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอุยกูร์เดินผ่านบริเวณอนุเสาวรีย์ประธานเหมา เจ๋อตง ในซินเจียงเดือนส.ค. 2551 (แฟ้มภาพเอเอฟพี)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงานวันนี้ (24 มี.ค.) โดยอ้างซินเจียง เดลี่ สื่อของรัฐในเขตปกครองตัวเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียง ว่าเมื่อเร็วๆนี้ศาลสูงสุดแห่งประชาชนจีน ได้ยืนคำพิพากษาประหารชีวิตชาวอุยกูร์ 7 คน ในข้อกล่าวหาปล้นทรัพย์และสังหารประชาชน 9 คนในเมืองคาชการ์ระหว่างช่วงปลายปีที่แล้ว

การตัดสินครั้งนี้เป็นการยืนตามคำพิพากษาของศาลประชาชนชั้นกลางประจำเมืองคาชการ์ มณฑลซินเจียง เจ้าหน้าที่อาจประหารพวกเขาได้ในเวลาใดก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการรับรองคำตัดสินประหารชีวิตชนชาติส่วนน้อยอุยกูร์ครั้งที่สองของปีนี้ โดยเมื่อปลายเดือนที่แล้วศาลสูงสุดฯได้รับรองคำตัดสินประหารชาวอุยกูร์ 4 คน

สำหรับกรณีกระทำผิดของจำเลยที่ถูกตัดสินประหารฯครั้งล่าสุดนี้ รายงานข่าวระบุเป็นกรณีที่ชายอุยกูร์ 12 คน นำโดยนาย Nuermaimaiti Aobulikasi บุกเข้าไปยังบ้านในซูเล (Shule) ชานเมืองคาชการ์เมื่อวันที่ 11 พ.ย. (2553) ปล้นทรัพย์สินและสังหารสมาชิกในครอบครัว 6 คน

รายงานข่าวฯยังระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. แก็งคนร้ายกลุ่มนี้ยังได้บุกเข้าไปในบ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชิงทรัพย์แล้วก็สังหารทั้งสอง นอกจากนี้ยังได้สังหารเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยระหว่างที่ทำการปล้นร้านค้าในตลาดเมืองคาชการ์ต้นเดือนส.ค.

เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวคนร้ายทั้งหมด และดำเนินการไต่สวน นอกจากจำเลย 7 คน ที่จะถูกลงดาบประหารในเวลาใดก็ได้ อีก 3 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยรอลงอาญา 2 ปี อีก 1 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และอีก 1 คน ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี นอกจากนี้ ซินเจียง เดลี่ ยังได้ตีตราคนร้ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอาชญากรที่พัวพันกับกิจกรรมก่อการร้ายด้วย แต่ไม่มีรายละเอียดนอกเหนือจากอาชญกรรมที่ระบุในรายงานข่าว
นาง เรบียะ กอร์ดี ผู้นำอุยกูร์
ขณะที่ผู้นำอุยกูร์ นาง รอบียะ กอดีร์ ได้กล่าวระหว่างที่เธอเยือนประเทศออสเตรเลีย ว่าการที่ผู้นำจีนรุกปราบปรามชนส่วนน้อยอุยกูร์อีกในช่วงนี้ เป็นการโต้ตอบสถานการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในตูนีเซีย อียิปต์ และลิเบีย และการปราบปรามครั้งนี้เป็นไปอย่างดุเดือดจนทำให้เมืองแถบตะวันตกของคาชการ์ซึ่งมักเกิดเหตุวุ่นวายระหว่างเชื้อชาติบ่อยๆ และในเมืองเอก อูหลู่มู่ฉี มีสภาพเหมือนเขตสงคราม โดยมีกลุ่มทหารเที่ยวออกค้นบ้านเรือน จับกุมสมาชิกชนส่วนน้อยมุสลิมที่พูดภาษาเติร์กกิค

ทั้งนี้ซินเจียงเป็นจุดร้อนด้วยความขัดแย้งระหว่างชนชาติโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่เกิดเหตุปะทะรุนแรงครั้งใหญ่ระหว่างชาวจีนฮั่นและอุยกูร์ในเดือนก.ค.2552 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ถึง 200 คน และบาดเจ็บนับพันคน จากนั้น ผู้นำจีนยังได้ดำเนินการที่ดูเหมือนจะประกันความมั่นคงในเขตของชาวอุยกูร์ โดยปลดผู้นำสูงสุดหัวเก่าแข็งกร้าว คือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งซินเจียง นาย หวัง เล่อเฉียน และแต่งตั้งสหายที่มีใจเปิดกว้างกว่า และช่ำชองสื่อมากกว่า คือ นาย จัง ชุนเสียน มาเป็นนายใหญ่คนใหม่ของพรรคฯที่ซินเจียง พร้อมกับได้ทุ่มทุนทรัพยากรก้อนใหญ่สำหรับยกระดับเศรษฐกิจ จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาจัดการกรณีอาชญากรรมที่ซับซ้อน โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ.

คลิกอ่าน ศึกขัดแย้งในเขตปกคครองตัวเองอุยกูร์มณฑลซินเจียง

คลิกอ่าน “กบฏซินเจียงเป็นใครน่ะ?”

กำลังโหลดความคิดเห็น