xs
xsm
sm
md
lg

“มนุษย์แพนด้า” กระเตงแพนด้าน้อยขึ้นเขา ฝึกปรับตัวสู่ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์แพนด้าวั่วหลง ในมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ใส่ชุดแพนด้าปลอม อุ้มแพนด้าน้อยวางไว้ในตะกร้า เตรียมย้ายขึ้นเขาให้ลูกแพนด้าน้อยได้เรียนรู้การใช้ชีวิตตามธรรมชาติ (ภาพไชน่า เดลี่)
ไชน่า เดลี่ - นักวิจัยศูนย์อนุรักษ์แพนด้าวั่วหลง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ใส่ชุดแปลงโฉมเป็นแพนด้ายักษ์ อุ้มแพนด้าน้อยใส่ตะกร้า เมื่อวันอาทิตย์ (20 ก.พ.) เพื่อเตรียมย้ายเจ้าแพนด้าน้อยไปฝึกใช้ชีวิตตามธรรมชาติในพื้นที่ใหม่ ซึ่งห่างไกลกว่าเดิม โดยผู้คนที่มาเยี่ยมชมแพนด้าที่ศูนย์ฯ ต่างชื่นชอบการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ศูนย์

สื่อจีนรายงานวันนี้ (21 ก.พ.) ว่า นอกจากแพนด้าตัวลูก “เฉ่า เกิน” แล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ยังได้ย้ายแพนด้าตัวแม่ “เฉา เฉ่า” ไปอยู่ในพื้นที่กึ่งสภาพป่าของศูนย์อนุรักษ์ฯ ด้วยกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และหากแพนด้าทั้งสองสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น ก็จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกว่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกแพนด้าให้คุ้นชินกับธรรมชาติ ก่อนที่จะปล่อยให้ไปใช้ชีวิตในป่า

เฉา เฉ่า แพนด้าเพศเมีย วัย 8 ปี ได้ให้กำเนิด เฉ่า เกิน แพนด้าน้อยเพศผู้ ในเดือน ส.ค.2553 เพียง 1 เดือนหลังจากศูนย์ได้นำแพนด้าเพศเมีย 4 ตัว มายังพื้นที่สำหรับฝึกแพนด้า ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่พบว่า เฉ่า เกิน สามารถเรียนรู้สัญชาตญาณของสัตว์ป่าได้มากแล้ว จึงตัดสินใจย้ายแพนด้าแม่-ลูก มายังพื้นที่กึ่งสภาพป่าของศูนย์อนุรักษ์ฯ ซึ่งอยู่ท่ามกลางภูเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,200 เมตร พร้อมทั้งปล่อยให้สองแพนด้าใช้ชีวิตกันตามธรรมชาติ โดยมีพี่เลี้ยงและเหล่านักวิจัยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ

หลี่ เต๋อเซิง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารศูนย์อนุรักษ์แพนด้าวั่วหลง กล่าวว่า “พื้นที่ดังกล่าวมีอาณาบริเวณ 40,000 ตารางเมตร ล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กสูง 2 เมตร พร้อมติดกล้องวงจรปิดโดยรอบราว 55 เครื่อง และหากจะเข้าไปใกล้ๆ แพนด้า เจ้าหน้าที่ก็ต้องใส่ชุดแพนด้าด้วย”

เฉา เกิน แพนด้าน้อย มีน้ำหนักแรกเกิดท 205 กรัม ขณะนี้ น้ำหนักตัวเพิ่มเป็น 11.6 กิโลกรัมแล้ว ส่วนใหญ่มันจะดูดนมจาก เฉา เฉา แม่ของมัน นอกจากนี้ เจ้าแพนด้าน้อยยังชอบปีนป่ายต้นไม้เล่นวันละ 18 ชม.

หวง เหยียน ผู้ช่วยวิศวกรของศูนย์ฯ กล่าวว่า “แพนด้าน้อย เฉา เกิน ไม่เหมือนกับแพนด้าเลี้ยงตัวอื่นๆ มันไม่คุ้นกับคน และแทนที่มันจะชอบพวกนักวิจัยที่ใส่ชุดแพนด้าที่เข้ามาตรวจร่างกายรายเดือน มันกลับส่งเสียงขู่และกัดนิ้วพวกนักวิจัยเหล่านั้น”

หู จินฉู่ ผู้เชี่ยวชาญแพนด้า วัย 82 ปี กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่จะให้แพนด้าเรียนรู้การใช้ชีวิตในป่า คือช่วงอายุ 6 ถึง 18 เดือน และเนื่องจาก เสือดาว เป็นสัตว์ที่ชอบล่าแพนด้า ดังนั้น เหล่าผู้ดูแลศูนย์ นอกจากจะใส่ชุดแพนด้าแล้ว ก็ควรจะใส่ชุดและคำรามเหมือนเสือดาวด้วย เพื่อช่วยให้เจ้าแพนด้าน้อย ได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ป่า”

ทั้งนี้ ศูนย์อนุรักษ์แพนด้าวั่วหลง เริ่มต้นโครงการฝึกแพนด้าเลี้ยง ให้สามารถใช้ชีวิตในป่าได้ ตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2549ทางศูนย์ฯได้ปล่อย เซียง เซียง แพนด้าที่ผ่านการฝึกตัวแรกเข้าสู่ป่า แต่เพียง 1 ปีให้หลัง เจ้าหน้าที่ศูนย์ ก็พบว่า เซียง เซียง แพนด้าเพศผู้ วัย 5 ปี เสียชีวิตอยู่กลางป่า โดยบรรดานักวิจัยเชื่อว่า เซียง เซียง ตกลงมาจากที่สูง หลังจากแย่งชิงอาหารกับแพนด้าตัวอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แพนด้าป่าไม่ยอมรับเซียง เซียง แต่กลับมองว่ามันเป็นศัตรู

อนึ่ง แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ขณะนี้ จีนมีแพนด้ายักษ์ในป่า ราว 1,600 ตัว และอีก 360 ตัว อยู่ในโครงการวิจัยเพาะพันธุ์ และสวนสัตว์ทั่วโลก

ทั้งนี้ แพนด้า ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการทูตที่สำคัญ ซึ่งจีนใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยจะมีการทำสัญญาให้ยืมแพนด้าในระยะเวลาหนึ่ง และสำหรับแพนด้าเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน มีด้วยกัน 3 ตัว คือ ช่วง ช่วง กับ หลิน ฮุ่ย คู่แพนด้ายักษ์ที่ให้กำเนิด หลิน ปิง แพนด้าน้อยขวัญใจมหาชนชาวสยาม ที่กำลังจะกลับสู่แดนมังกรในเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่จีนกำหนดให้ลูกแพนด้าอยู่ที่ไทยได้ 2 ปี

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังกระตือรือร้นขอต่ออายุให้หลิน ปิง อยู่ต่ออีก 2 ปี โดย นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าแห่งประเทศไทย ได้ส่งเอกสารต่อสัญญาฯ ให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงป่าไม้จีนพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำหนดวันนัดทำสัญญาได้ภายใน 1 เดือน
 
ชมภาพน่ารัก ๆ ของเฉ่า เกิน (ภาพเอเยนซี)




กำลังโหลดความคิดเห็น