เอเอฟพี - จีนหมายตาตำแหน่งประเทศ ซึ่งมีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ของโลก แทนที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรืออียู ขณะที่ปัญหาการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ อาจทำให้ลุงแซมถูกแย่งตำแหน่งไปในที่สุด
ในการประชุมประจำปีของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา (AAAS) เมื่อวันศุกร์ (18 ก.พ.) นักวิจัยมะกันระบุว่า เวลานี้จีนกำลังลงทุนอย่างหนักหน่วงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังจากทำตัวเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกแหล่งใหญ่ของโลกมานาน
“ จีนหวังเป็นแหล่งทรัพย์สินทางปัญญาชั้นนำแห่งหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” นายเดนิส ไซมอน อาจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนายกเทศมนตรีเมืองต้าเหลียนกล่าวต่อที่ประชุม
เขากล่าวว่า ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่จีนกำลังเพิ่มงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นที่น่าสังเกต โดยตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาถึงร้อยละ 2.5 ของจีดีพีภายในปี 2563
หันมาดูสหรัฐฯ ส.ส. พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับการลดงบประมาณจำนวนหนึ่งพันล้านดอลลาร์สำหรับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของรัฐที่ใหญ่ที่สุดของโลก และการตัดลดกองทุนสำหรับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนกองทุนสำหรับการศึกษา เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจำนวนหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ แม้มีเสียงเตือนว่าสหรัฐฯต้องให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มิเช่นนั้น เศรษฐกิจก็อาจแข่งขันสู้ชาติอื่นไม่ได้
จากรายงานด้านการศึกษาฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้วระบุว่า สหรัฐฯ หล่นจากอันดับ 2 มาอยู่อันดับที่ 13 จากทั้งหมด 34 ชาติของการเป็นชาติที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยมากที่สุด ด้านการสอนวิทยาศาสตร์หยุดชะงักอยู่ที่อันดับ 17 และการสอนคณิตศาสตร์ติดอันดับ 25
ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนครองอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกในด้านการมีนักศึกษาลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยมากที่สุด
แคโรไลน์ ว้ากเนอร์ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียระบุในที่ประชุมว่า ยิ่งจีนมีนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากเท่าใด จีนก็จะมีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และมากกว่าในสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันรายงานการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพจากจีนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที และมีผู้นำมาอ้างอิงกันมากกว่าเดิม ซึ่งว้ากเนอร์ชี้ว่า เป็นมาตรวัดสำคัญสำหรับคุณภาพของผลงานวิจัย แต่จำนวนการอ้างอิงรายงานการวิจัยของสหรัฐฯ หรือยุโรปกำลังลดน้อยลง โดยจีนได้ผลิตงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และด้านวิศวกรรมนำหน้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติผู้ผลิตรายงานทางวิทยาศาสตร์ในทุกสาขารายใหญ่ที่สุดในโลก แต่หากดูจากแนวโน้มในปัจจุบันแล้ว จีนจะสามารถผลิตรายงานการวิจัยในทุกสาขาได้เพิ่มมากขึ้นภายในปี 2558
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคหลายประการ ที่อาจขัดขวางการก้าวไปสู่การเป็นชาติอันดับหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ของจีน อาทิ ปัญหามันสมองไหล และพฤติกรรมชอบคัดลอกผลงานของผู้อื่นในหมู่นักวิจัยของจีน