xs
xsm
sm
md
lg

งานดินเนอร์ วิเทโศบายทางการทูตที่ดีกว่าการเจรจาซัมมิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน (กลาง) เดินทางถึงสนามบินฐานทัพอากาศแอนดรูว์ส  ใกล้กรุงวอชินตัน ดีซี. โดยรองประธานาธิบดี โจเซฟ ไบเดน มาต้อนรับเมื่อวันอังคาร (18 ม.ค.) – เอเอฟพี
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - บรรดานักวิเคราะห์ตะวันตกและจีนเห็นตรงกันว่า การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือสิ่งสำคัญ ที่สุดในการเยือนแดนลุงแซมของผู้นำแดนมังกรด้วยบรรยากาศ ที่มีความเป็นส่วนตัวยิ่งกว่าการประชุมสุดยอด

การประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบาม่าของสหรัฐฯ และประธานาธิบดี หู จิ่นเทาแห่งจีน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี.ในวันพุธ (19 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ยังคงมีความสำคัญในสายตาของนักวิเคราะห์ เนื่องจากโครงสร้างอำนาจในโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ประธานาธิบดี หู มาเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2549

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการพบปะกันในระดับผู้นำของฝ่ายสหรัฐฯกับจีนครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่นายเติ้ง เสี่ยวเผิง ผู้นำแดนมังกรมาเยือนสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 30 ปีก่อน นายZbigniew Brzezinski ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ระบุ

อย่างไรก็ตาม มีการคาดหวังกันไม่มากนักว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะประสบความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า สภาพแวดล้อมภายนอก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการขาดความไว้วางใจกันคือเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองเปราะบาง ดังนั้น งานเลี้ยงอาหารค่ำจึงอาจมีความสำคัญยิ่งกว่าการเจรจา ที่เป็นทางการก็เป็นได้สำหรับการมาเยือนเป็นเวลา 4 วันของผู้นำจีนคราวนี้

ผู้นำทั้งสองต้องนั่งลงพูดคุยกัน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หลังจากตลอดช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความวุ่นวายระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวันและกรณี ผู้นำสหรัฐฯพบปะกับองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ซึ่งเรื่องทั้งสองทำให้จีนระงับการแลกเปลี่ยนทางการทหารอยู่นานถึง 8 เดือน ขณะที่การโต้เถียงกันเรื่องค่าเงินหยวน และความวิตกของสหรัฐฯ ที่เสียเปรียบดุลการค้าจีน ตลอดจนการหวนกลับเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอีกครั้งของพญาอินทรี ก็ยิ่งเพิ่มความตึงเครียด และการเผชิญหน้ากันมากขึ้น

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ อาทิ ศาสตราจารย์ เดวิด แชมโบ แห่งมหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตันยังเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรทำงานร่วมกัน เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมเมื่อคราวที่ประธานาธิบดีโอบามาเยือนแดนมังกรเมื่อเดือนพ.ย.ปี 2552 มีผลเป็นรูปธรรม โดยในแถลงการณ์ร่วมระบุถึง “สัมพันธไมตรี ที่ครอบคลุม ประสานความร่วมมือกัน และเป็นไปในทางบวก”

ศาสตราจารย์ ฟู่ เมิ่งจี แห่งสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีนมองว่า บรรดาผู้นำของชาติทั้งสองต้องมีความกล้าหาญที่จะสร้างกรอบการทำงานสำหรับสัมพันธไมตรี อันเป็นสิ่งที่สำคัญนี้

“การเยือนครั้งนี้ในความเห็นของผม อาจประสบความสำเร็จ หากมีการสร้างอารมณ์ บรรยากาศให้ดีขึ้น และลดความหวาดระแวงกัน” ศาสตราจารย์ ไมเคิล ยาฮูดา แห่งลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ชี้

จากผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Centre) ระบุชาวอเมริกันถึงเกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ขณะที่มีเพียงร้อยละ 31 ที่คิดว่าเป็นสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังนับเป็นครั้งแรก ที่ชาวอเมริกัน 1 ใน 5 ระบุว่าจีนคือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสหรัฐฯ ยิ่งกว่าเกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน

ทั้งนี้ แม้ว่าระยะเวลาในการบริหารประเทศของผู้นำทั้งสองเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีหูจะพ้นตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า ขณะที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.ปีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังคาดหวังว่าจะเกิดผล ที่เป็นรูปธรรมในบางเรื่องในการเยือนครั้งนี้ เช่น สหรัฐฯ อาจผ่อนปรนการควบคุมการส่งออกสำหรับสินค้าไฮเทค เพื่อแลกเปลี่ยนกับคำมั่นสัญญาจากฝ่ายจีน ที่จะปฏิรูปเงินหยวนมากขึ้น หรืออาจมีความคืบหน้าในเรื่องการรับรองสถานภาพเศรษฐกิจระบบตลาดของจีน ตลอดจนความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น