เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของยูเอ็นระบุ จีนยังไม่สามารถนำกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึงระดับอุตสาหกรรม ด้านเจ้าหน้าที่แดนมังกรยอมรับต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี
นาย แกรี ไดก์ ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล หรือไอเออีเอ ในกรุงเวียนนา ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นกล่าวเมื่อวันจันทร์ (17 ม.ค.) ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีนำกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ของจีน ทำให้จีนจัดอยู่ในกลุ่มชาติที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเพียงไม่กี่ชาติในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จีนยังต้องสร้างเครื่องปฏิกรณ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่าในขณะนี้ ซึ่งยังเป็นเพียงโครงการนำร่องอย่างมาก จึงจะสามารถนำกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กลับมาใช้ใหม่ได้ถึงระดับการค้า
นายไดก์ระบุว่า โครงการนำร่องของจีนใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบา อันเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ฝรั่งเศส และเยอรมนีใช้กัน แต่ชาติทั้งสองทำถึงระดับการค้าแล้ว
ด้านโฆษกของสำนักงานปรมาณูแห่งชาติของจีน (CNNC) ได้ออกมาแถลงสรุปในวันเดียวกันว่า จีนยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปี จึงจะนำเทคโนโลยีหมุนเวียนกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์มาใช้ได้ในวงกว้าง เพื่อขยายแหล่งยูเรเนียมของจีนให้มีช่วงอายุการใช้งานยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขั้นต้นในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวของจีนนับเป็นขั้นตอนสำคัญในการก้าวไปสู่การนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี โฆษกระบุ
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนจีนออกมาประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนำกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยระบุว่า จะทำให้จีนจีนมีแหล่งยูเรเนียม ที่ตรวจสอบได้ สำหรับการใช้ได้นานถึง 3,000 ปี จากเดิมแค่ 50-70 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ จีนกลับเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย
รัฐบาลปักกิ่งเพิ่มการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจีนติดอันดับแถวหน้าในหมู่นานาชาติ ตลอดจน เพื่อลดการพึ่งพาถ่านหิน ซึ่งจีนใช้มากถึงร้อยละ 70 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ
ปัจจุบัน จีนมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่กำลังเดินเครื่องทั้งสิ้น 13 แห่ง ผลิตยูเรเนียมได้ราว 750 ตันต่อปี นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้อนุมัติการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มอีก 34 เครื่อง ซึ่ง 26 เครื่องอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าจีน อาจมีความต้องการใช้ยูเรเนียมพุ่งสูงถึง 20,000 ตันต่อปีภายในปี 2563