《舌之因果》
ลิ้นเป็นอวัยวะเล็กๆ ในร่างกายของคนเราที่สำคัญยิ่ง ลิ้น(การพูด)สามารถนำความสุขมาให้ผู้พูด ในทางกลับกัน ลิ้น(การพูด)ก็สามารถทำเรื่องเดือดร้อนให้ผู้พูดได้เช่นกัน
ในอดีตมีพระเซนรูปหนึ่ง เขามีศิษย์เกียจคร้านเอาแต่นอนหลับทั้งวัน วันหนึ่งศิษย์ผู้นี้นอนจนสายก็ยังไม่ตื่น ทำให้พระเซนไม่พอใจ จึงต่อว่าลูกศิษย์ว่า "เวลาสายขนาดนี้ ตะวันส่องจนแม้แต่ฝูงเต่ายังพากันคลานออกนอกบึงบัวมารับแสงแดดกันหมดแล้ว เหตุใดตัวเจ้ากลับมัวแต่นอนอยู่ได้"
เวลาเดียวกันนั้นเอง บริเวณใกล้เคียงมีคนผู้หนึ่งที่กำลังต้องการจับเต่าไปแกงเป็นยาให้มารดาซึ่งกำลังป่วยรับประทาน เมื่อได้ฟังพระเซนบอกว่ามีเต่าออกมาจากบึง จึงได้รีบไปจับเต่ามาเชือดจากนั้นนำเนื้อมาปรุงเป็นแกงเต่า ทั้งยังแบ่งแกงเต่ามาให้พระเซนเพื่อแสดงความขอบคุณที่ชี้ทางให้อีกด้วย
ฝ่ายพระเซน เมื่อทราบว่าการพูดจาโดยไม่ได้ตั้งใจของตนเอง เป็นต้นเหตุแห่งการตายของบรรดาเต่าก็เกิดความรู้สึกผิดอย่างยิ่ง เพราะหากตนไม่เอ่ยปากพูดไปเช่นนั้นเต่าก็คงไม่โดนพบเห็น พระเซนจึงได้ให้คำมั่นกับตัวเองว่าต่อไปจะไม่เอ่ยปากพูดจาอีกเลยตลอดชีวิตเพื่อเป็นการชดใช้บาปที่ทำไว้ ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นอีกในภายภาคหน้า
เวลาผ่านไปไม่นาน ขณะที่พระเซนนั่งอยู่บริเวณหน้าวัด เขาพลันพบว่ามีชายตาบอดผู้หนึ่งกำลังเดินหลงทิศ มุ่งหน้าลงไปยังบึงบัวนั้น แต่จนใจที่พระเซนให้สัญญากับตัวเองเอาไว้ว่าจะไม่เปิดปากพูด จึงไม่สามารถร้องเตือนชายตาบอดได้ แต่หากไม่เอ่ยปากตักเตือน ชายตาบอดคงต้องตกลงไปในบึงบัวเป็นแน่
พระเซนเอาแต่ลังเลว่าจะทำเช่นไรดี ปล่อยเวลาผ่านไป ในที่สุดชายตาบอดก็เดินตกลงไปในบึงบัว จมน้ำหายไปต่อหน้าต่อตา
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเซนโศกเศร้าเสียใจหาที่เปรียบมิได้ และตระหนักได้ว่าการไม่ยอมพูดจาของตนในครั้งนี้ กลับกลายเป็นการทำร้ายทำลายชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างน่าเสียดาย ความผิดสองครั้งที่ผ่านมาของตนคือการพูดในเวลาที่ไม่ควรพูด แต่กลับไม่พูดในเวลาที่ควรพูด
ปัญญาเซน : มนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิตอยู่บนโลก แม้แต่การพูดจาก็ต้องใช้ปัญญา นั่นคือพูดสิ่งที่ควรในเวลาที่เหมาะ นอกจากนี้ต้องพึงระลึกว่า ในการดำรงชีวิตของคนเรา ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่การให้อภัยต่างหากที่เป็นสิ่งเหนือธรรมดา คนเราไม่เพียงต้องรู้จักให้อภัยผู้อื่น ทั้งยังต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัยตนเอง
ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4