xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.จี้รัฐเร่งแก้น้ำท่วมพาน้ำออกทะเล-ไม่ปิดข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนออกแถลงการณ์แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม จี้ 5 ข้อ ขอข้อมูลที่จำเป็น ชัดเจน เข้าใจง่าย หลังที่ผ่านมาบริหารจัดการล้มเหลว-ทำประชาชนสับสน

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2554 นายยุคล สมปราง เครือข่ายภาคประชาชนจากชุมชนบึงบัว เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย นายชาญ รูปสม เครือข่ายชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อหาทางออกในวิกฤตปัญหาน้ำท่วม โดยมีภาคประชาชนจากเขตพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วม ทั้งนี้นายยุคล กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้เป็นการก่อตั้งจากภาคประชาชนในนาม “ศูนย์แก้ไขภัยพิบัติน้ำท่วมจากภาคประชาชน” ซึ่งต้องการสนับสนุนให้รัฐบาล กรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนทุกแขนง ได้ดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนและทำอย่างเต็มที่ จึงขอเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขอสนับสนุนให้ “พาน้ำออกทะเล” โดยหลักการตามน้ำ ไม่ค้ำน้ำ เพราะเชื่อมั่นว่า เมืองไทยเป็นเมืองน้ำ เราเคารพน้ำเป็นพระแม่คงคา 2.ขอให้ภาครัฐและกรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในระดับเขต ระดับแขวง โดยมีผู้แทนจากรัฐบาล ข้าราชการระดับเขตของ กทม.และแกนนำชุมชน เพื่อให้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็น การร่วมวางแผนปฏิบัติการ และร่วมลงมือทำ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินการโดยขาดการจัดตั้งร่วมกับประชาชน

นายยุคล กล่าวว่า สำหรับข้อ 3. ภาคประชาชนต้องการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นระยะๆ โดยออกประกาศ ให้ชัดเจน เข้าใจง่าย เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ตื่นตะหนก เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้รับข้อมูลไม่ชัดเจน โดยข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่ น้ำมีปริมาณเท่าไหร่ที่ค้างในทุ่ง ในแม่น้ำ และในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขอให้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เข้าใจ และชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน นอกจากนี้ รัฐบาลต้องระบุว่าน้ำมีความเร็วในการไหลเท่าไหร่ จะมาถึงสถานที่ต่างๆ เมื่อไหร่ จะทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในแต่ละที่เท่าไหร่ เพื่อการเตรียมตัวรองรับ และแผนการชะลอการไหลของน้ำ การเบี่ยงทางน้ำ และศักยภาพของการชะลอการไหลของน้ำ จะสามารถรองรับได้แค่ไหน ที่สำคัญศักยภาพในการระบายออกทะเลได้กี่วันถึงจะหมด ยังเหลืออยู่เท่าไหร่ และจะเพิ่มกำลังการระบายออกได้อย่างไร เพื่อทำให้รู้ว่าจะต้องอยู่กับน้ำอีกนานเท่าไหร่

นายยุคล กล่าวอีกว่า และข้อ 4.ขอให้มีการวางแผนการอพยพไปยังศูนย์พักพิงในแต่ละเขตให้ละเอียดและชัดเจน มีการบริหารจัดการที่ดี มีความพร้อม เพราะที่ผ่านมาให้เวลาในการสื่อสารน้อยมาก โดยเฉพาะรูปแบบขั้นตอนการย้าย เช่น สถานที่ไปเป็นอย่างไร รับได้เท่าไหร่ ขณะนี้เต็มหรือยัง เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตในภาวะที่น้ำทรงตัว เช่น การปฏิบัติตัวขณะอยู่ในบ้าน อาศัยอยู่ในที่พักพิง การดูแลสุขภาพอนามัย อันตรายจากไฟฟ้า การดูแลจิตใจ และ5.เมื่อถึงขั้นตอนการฟื้นฟูประเทศ จำเป็นต้องจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อฟื้นฟู โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ หวังว่ารัฐบาล กรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนทุกท่าน จะได้นำไปพิจารณาอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น