xs
xsm
sm
md
lg

อ้านถูสั่วจี้ : ยึดรูปภาพเสาะหายอดอาชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

《按图索骥》   

按(àn) อ่านว่า อ้าน แปลว่า ยึดตาม
图(tú) อ่านว่า ถู แปลว่า รูปภาพ
索(suǒ) อ่านว่า สั่ว แปลว่า เสาะหา
骥(jì) อ่านว่า จี้ แปลว่า ม้าที่ดี

 ภาพจาก http://china5000.vocy.cn/
เชื่อกันว่าในสรวงสวรรค์มีเซียนวิเศษที่ทำหน้าที่ดูแลอาชาแห่งสวรรค์ ส่วนในโลกมนุษย์ก็มีผู้ที่มีความสามารถในการคัดเลือกยอดอาชาเช่นกัน โดยบุคคลเหล่านี้จะถูกเรียกว่า "ป๋อเล่อ"

ป๋อเล่อคนแรกในประวัติศาสตร์ มีชื่อเดิมว่า ซุนหยัง เป็นคนสมัยชุนชิว เขามีความรู้เรื่องม้าอย่างลึกซึ้งระดับปรมาจารย์ เพียงมองแวบเดียวก็สามารถตัดสินได้ว่าม้าตัวไหนเป็นยอดอาชา ผู้คนจึงพากันเรียกเขาด้วยนาม "ป๋อเล่อ" แทนชื่อจริง (ความเก่งกาจในการเสาะหาอาชาฝีเท้าดีของเขา มีบันทึกไว้ในสุภาษิตจีน สำนวน "ป๋อเล่อเซี่ยงหม่า : ป๋อเล่อเลือกม้า" )

เมื่อป๋อเล่อสั่งสมประสบการณ์ในการพิเคราะห์ยอดอาชาจนเต็มเปี่ยมแล้ว เขาได้ถ่ายทอดลงในตำราที่มีชื่อว่า "เซี่ยงหม่าจิง" หรือ "คัมภีร์คัดเลือกม้า" โดยในตำราดังกล่าวได้บันทึกลักษณะพิเศษที่โดดเด่นต่างๆ ของยอดอาชาเอาไว้มากมาย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากตำราเล่มนี้

เล่ากันว่าป๋อเล่อมีบุตรชายนามว่า "ซุนต้า" แต่กลับเป็นผู้ด้อยปัญญาผู้หนึ่ง เมื่อบุตรชายของเขาได้อ่าน "คัมภีร์คัดเลือกม้า" ของบิดา ก็คิดว่าการเสาะหาม้าฝีเท้าดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก จึงได้คิดออกไปเสาะหายอดอาชาไนยมาอวดผู้เป็นบิดา โดยตอนหนึ่งในคัมภีร์ บันทึกเอาไว้ว่า "อาชาฝีเท้าพันลี้มีลักษณะเด่นคือ หน้าผากสูง ดวงตาโปนโต กีบเท้าดั่งหล่อหลอมด้วยท่อนเหล็ก..." ซุนต้าจึงถือตำราดูม้าพลางเดินทางออกจากบ้านเพื่อเสาะหาม้าที่มีลักษณะดังกล่าว

เมื่อมาได้ไม่ไกลนัก ซุนต้าพลันพบคางคกยักษ์ตัวหนึ่ง เขาดีใจเป็นอันมาก จึงรีบจับกลับไปอวดป๋อเล่อผู้เป็นบิดา ทั้งยังกล่าวว่า "ท่านพ่อ ข้าพบยอดอาชาตามลักษณะที่ท่านบันทึกไว้ในคัมภีร์แล้ว ทั้งหน้าผากสูง ตาโปนโต ขาดเพียงแต่กีบเท้าที่คล้ายดั่งหลอมด้วยเหล็กเท่านั้น"

เมื่อป๋อเล่อเห็นคางคกยักษ์ที่บุตรชายจับมาเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นม้า ก็ทั้งขันทั้งฉิว จึงตอบกลับบุตรชายไปว่า "ม้าของเจ้าตัวนี้เอาแต่กระโดด แต่จะให้ควบขี่มันคงเป็นไปไม่ได้"

สำนวน "อ้านถูสั่วจี้" หรือ "ยึดรูปภาพเสาะหายอดอาชา" ปัจจุบันใช้เปรียบเปรยถึงการทำอะไรที่ยึดตามกรอบแบบแผนหรือทฤษฎีตายตัว โดยไม่คิดปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) ส่วนขยายนาม(定语) หรือส่วนขยายภาคแสดง(状语)

ที่มา : http://baike.baidu.com/
กำลังโหลดความคิดเห็น