xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวัน ฮึดฮัดซื้อเอฟ16 หลังเพนตากอนชี้ "ห่างชั้นจีน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอฟ 16 ดี (ชนิดสองที่นั่ง) เจ้าของฉายาฟอลคอน เหยี่ยวเวหา ตัวจริง ผ่านสมรภูมิรบมาโชกโชน ตลอด 30 กว่าปี ที่เข้าประจำการ ทั้งบินรบขับไล่และทิ้งระเบิดขนาดเบา จัดเป็นคู่ต่อกรชนิดฟ้าสะเทือนกับ เฉิงตู เจ-10 ของจีน (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี-ไต้หวันแถลงวันอังคาร 23 ก.พ. ว่ายังคงปรารถนาจะซื้อเครื่องบินขับไล่จากสหรัฐฯ อยู่ โดยเฉพาะหลังจากที่เพนตากอนออกรายงานชี้ศักยภาพของฝูงบินรบไต้หวันยังห่างชั้นกับจีน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. สำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐ (ดีไอเอ) ได้เผยรายงานประเมินสมรรถภาพกองทัพไต้หวัน ระบุว่า เครื่องบินรบเกือบทั้งหมดที่ไต้หวันมีอยู่ราว 400 ลำ อาจไร้ประสิทธิภาพเนื่องจากประจำการมานาน และขาดการบำรุงรักษาที่ดีพอ นอกจากนี้ การป้องกันสนามบินของไต้หวันที่อยู่ห่างจากจีนเพียง 160 กิโลเมตร ก็เปราะบางอ่อนแอเกินต้านทาน และชี้ว่าไต้หวันจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพอากาศ เนื่องจากนับวันแสนยานุภาพกองทัพจีนยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

โดยการนี้ ไต้หวันต้องการซื้อเครื่องบินเอฟ 16 ซี/ดี ซึ่งสามารถทำการรบพิสัยไกล กว่าที่มีอยู่ เช่นเดียวกับต้องการเรือดำน้ำ

นายกรัฐมนตรีไต้หวัน อู๋ ตุน อี้ กล่าวที่รัฐสภาว่า ข้อพิจารณาถึงยุทโธปกรณ์สองรายการนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพต้องการมาก ยังคงอยู่ และไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ

รายงานนี้ชี้ว่า ไต้หวันจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของฝูงบินรบ เนื่องจากนับวันกองทัพอากาศจีนจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

โฆษกกระทรวงกลาโหมไต้หวัน หยู ซื่อจู่ว์ กล่าวกับนักข่าวว่า ไต้หวัน หวังว่า สหรัฐฯ จะยังจัดหายุทโธปกรณ์ป้องกันให้ไต้หวันต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจุดยืนไปยอมรับสถานะทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน แทนไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2522 และไต้หวันในเวลานั้น พึ่งพาสหรัฐฯ ในการจัดหาอาวุธเพื่อรบกับจีน

โดยสมรรถภาพกองทัพอากาศของไต้หวันที่มีอยู่นับแต่เวลานั้น ประกอบด้วย ฝูงบินเอฟ 5เอส 60 ลำ, มีเครื่องบินรบที่สร้างภายในประเทศ(ไอดีเอฟ ) 126 ลำ, ฝูงบิน เอฟ 16เอ/บีเอส 146 ลำ, และเครื่องบินขับไล่มิราจของฝรั่งเศส 56 ลำ

ในรายงานของเพนตากอน ระบุว่า เครื่องบินรบ รุ่นเอฟ 5 ล้วนถึงเวลาปลดระวางแล้ว ขณะที่ เครื่อง ไอดีเอฟ ยังไม่มีศักยภาพในการรบเพียงพอที่จะมาทดแทน

เมื่อเดือนมกราคม วอชิงตันได้ประกาศขายยุทโธปกรณ์ป้องกันให้แก่ไต้หวัน มูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ แม้ฝ่ายจีนขู่จะคว่ำบาตรทุกบริษัทที่มีส่วนร่วมกับดีลนี้

แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ยังเกรงใจจีน ไม่กล้าขายเครื่องบินเอฟ-16 ให้ไต้หวันอีก 66 ลำ และฝูงเรือดำน้ำ ตามที่มังกรน้อยต้องการ โดยอ้างว่าต้องประเมินความจำเป็นของไต้หวันก่อน

การเผยรายงานชิ้นนี้ของดีไอเอ จึงถูกบรรดานักวิเคราะห์การทหาร มองว่า เพื่อให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ ใช้สำหรับเสนอเพนตากอนให้อนุมัติการขายเอฟ-16 ให้ไต้หวันซึ่งสหรัฐฯ ยังคงความสัมพันธ์แนบแน่นเสมอมา อีกทั้งยังเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ให้ไต้หวัน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับจีน และสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่

อนึ่ง เรื่องของจีนสองดินแดน และสหรัฐฯนั้น เปิดฉากขึ้น เมื่อผู้นำเจียง ไคเช็ค แห่งพรรคจีนคณะชาติ หรือพรรคก๊กมินตั๋ง แพ้สงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี 2492 และได้หนีมายังเกาะไต้หวัน จัดตั้งรัฐบาลจีน โดยใช้ชื่อประเทศจีนชื่อเดิมคือ สาธารณรัฐจีนที่ก่อตั้งในปี 2455 (ค.ศ.1912) หลังโค่นล้มราชวงศ์ชิง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ผู้ชนะสงครามได้จัดตั้งรัฐบาลจีนใหม่ในกรุงปักกิ่ง เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน และด้วยปฏิปักษ์ระบอบการปกครองทุนนิยม และคอมมิวนิสต์ วอชิงตันย่อมหนุนไต้หวันแน่นอน แต่ในที่สุดสหประชาชาติก็รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน แทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)ในปี 2514 และสหรัฐฯก็ต้องหันมารับรองรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง เป็นรัฐบาลจีนแห่งเดียวในโลกเมื่อปี 2522 (1979) แต่คองเกรสเมกาต้องการขายอาวุธให้ไต้หวันเพื่อปัองกันตัวเอง (ตามเป้าหมายที่แถลง) ดังนั้น สหรัฐฯจึงผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ในปีเดียวกันนั้น เพื่อช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น