xs
xsm
sm
md
lg

จีนเตรียมพัฒนาทิเบตและมณฑลใกล้เคียง มุ่งรวมเป็นหนึ่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชราชาวทิเบตวัย 73 ปี ที่พระราชวังโปตะลา ‘ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์’ ใจกลางเมืองลาซา, จากการสำรวจประชากรครั้งล่าสุด พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวทิเบตเพิ่มสูงขึ้นจาก 35.5 ปี เป็น 67 ปีแล้ว (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี-สื่อของทางการจีนรายงานเมื่อวันเสาร์ (23 ม.ค.) ว่าบรรดาผู้นำระดับสูงในรัฐบาลจีนกำลังเตรียมแผนพัฒนาภูมิภาคทิเบตครั้งใหญ่ โดยแผนนี้รวมการพัฒนาภูมิภาครายรอบเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกมองว่าเป็นการผนวกทิเบตเข้ากับส่วนอื่นๆ ของประเทศให้แน่นแฟ้นเป็นหนึ่งเดียว นับแต่เกิดเหตุชาวทิเบตประท้วงต่อต้านจีนจนนำไปสู่การปราบปรามนองเลือดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนได้กล่าวต่อที่ประชุมระดับสูง ซึ่งจัดขึ้นในทิเบตเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ว่า การพัฒนานี้จะยกระดับคุณภาพสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานและรายได้ด้านเกษตรกรรมให้เทียบเท่าระดับชาติภายในปี 2563

ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวทิเบต ซึ่งร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศกว่าครึ่ง อยู่ที่ราวปีละ 3,410 หยวน นอกจากนั้น ประธานาธิบดีจีนยังกล่าวว่าต้องสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเรื่องการเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการแทรกซึมบ่อนทำลายจากกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวเอกราชทิเบต

การประชุมระดับสูงนี้ยังเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนับแต่เกิดเหตุจลาจลในลาซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนทิเบต และเจ้าหน้าที่จีนเมื่อวันที่ 14 มีนาคมปี 2551 การจลาจลครั้งนั้นถือเป็นการลุกฮือขึ้นครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากจีนเข้าปกครองทิเบตเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดรัฐบาลจีนก็ได้ระงับเหตุจลาจลด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง

ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตระบุว่า มีชาวทิเบตเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 200 คน และอีกราว 1,000 คนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวทิเบต ยังบอกด้วยว่า มีผู้ถูกจับกุมอีกประมาณ 1,000 คน

ขณะที่ทางการจีนได้ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว และว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จลาจลในทิเบต 22 คน และหนึ่งในนั้นคือผู้ก่อการกบฎ และว่าผู้ก่อการจลาจลจะต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของชาวทิเบตอีก 21 คน

สื่อจีนระบุอีกว่า บรรดาผู้นำซึ่งร่วมการประชุม ได้เห็นชอบให้เดินหน้าพัฒนาภูมิภาคทิเบต รวมทั้งเขตชุมชนทิเบตในมณฑลใกล้เคียงอย่างมณฑลเสฉวน มณฑลกันซู่ มณฑลยูนนาน และมณฑลชิงไห่ ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นที่ที่มีการประท้วงในช่วงเกิดจลาจลในลาซาเมื่อปี 2551

ไมเคิล ซี เดวิส ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกงแสดงความเห็นว่า บรรดาผู้นำจีนต้องการรวมปัญหาความแตกต่างด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคของทิเบตเข้าไปอยู่ในประเด็นเดียวกับการพัฒนา เพื่อลดความสำคัญของปัญหา และเชื่อมทิเบตเข้ากับส่วนอื่นๆ ของจีนให้มากขึ้นผ่านพื้นที่รายรอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น