เอเอฟพี-จีนตัดสินจำคุกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวทิเบต เป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่จำเลยโพสต์ภาพของทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders)
จำเลยชาวทิเบตที่ถูกตัดสินจำคุกครั้งนี้คือ Gyaltsen และ Nyima Wangdu โดยศาลได้ระบุความผิด คือ “สื่อสารข้อมูลติดต่อกับบุคคลภายนอกประเทศจีน”
กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนประณามการตัดสินของศาลจีนครั้งนี้ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองในทันที “เป็นสิ่งไร้สาระสิ้นดี ชาวทิเบตทั้งสองเพียงต้องการแลกเปลี่ยนภาพของผู้นำจิตวิญญาณทิเบตเท่านั้น” แถลงการณ์กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนที่มีฐานในกรุงปารีส ระบุเมื่อวันจันทร์(7 ธ.ค.)
จำเลยผู้ถูกตัดสินจำคุกไปแล้วนี้ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีชาวทิเบตอีกสามคนที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาคล้ายกันนี้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. แต่ยังไม่มีการดำเนินคดีจำเลยทั้งสาม
ทั้งนี้ ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของชนชาติทิเบตในประเทศอินเดีย ถูกรัฐบาลจีนตีตราเป็นกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดน ที่เคลื่อนไหวอิสรภาพทิเบต ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตปกครองตัวเองของจีน แต่ทะไล ลามะได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด
รัฐบาลจีนยังห้ามครอบครองและเผยแพร่ภาพของทะไล ลามะ ในทิเบต เป็นเวลาหลายปี และได้เข้มงวดตรวจสอบฯยิ่งขึ้น หลังจากเหตุการณ์จลาจลในลาซา เมืองเอกของเขตปกครองชนชาติทิเบตเมื่อปี 2551
ทั้งนี้ จีนได้ส่งกองกำลังปลดแอกชาวทิเบตบนแดนหลังคาโลก และประกาศอำนาจปกครองเหนือดินแดนทิเบตในปี 2494 โดยรัฐบาลในกรุงปักกิ่งยืนยันมาตลอดว่าการกระทำของจีนนั้นเพื่อยุติการปกครองที่ยึดถือพระเจ้า ซึ่งได้กำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นทาส ยกเว้นกลุ่มชนชั้นนำทางศาสนา ต่อมา ชาวทิเบตได้ลุกฮือจนเกิดการปะทะใหญ่เมื่อปี 2502 โดยชาวทิเบตเป็นฝ่ายพ่าย ทะไล ลามะ จึงได้ลี้ภัย มาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย.