xs
xsm
sm
md
lg

จากตลาดสดอุดมการณ์ถึงตลาดความรู้เรื่องไทย-จีน ของ "ลุงชาญ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุงชาญ เนียมประดิษฐ์ ในห้องสมุดของจิตร ภูมิศักดิ์วันที่ 18 ม.ค. 2553
สำนักวิจัยวัฒนธรรมร่วมไทย-จีน ได้เปิดม่านดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นการบรรลุฝันสูงสุดของลุงชาญ เนียมประดิษฐ์

ลุงชาญ เนียมประดิษฐ์วัย 81 ปี ยังดูกระฉับกระเฉงแจ่มใสในการต้อนรับแขกผู้เข้าร่วมพิธีเปิดสำนักวิจัยวัฒนธรรมร่วมไทย-จีน ในวันที่ 18 ม.ค. 2553 ในงานได้มีการจัดสัมนา “จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน” และเปิดห้องเสวนาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ร่วมจัดด้วย เป็นการประเดิมเผยแพร่ความรู้ด้านความสัมพันธ์ไทย-จีน ชุดใหญ่

สำนักวิจัยวัฒนธรรมร่วมไทย-จีนแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท ที่เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว (2552) โรงเรียนฯตั้งอยู่ในตลาดบางลำภู อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยลุงชาญ เป็นเจ้าของตลาดเก่าแก่อายุกว่า 40 ปี แห่งนี้เอง

ตลาดบางลำภู ซึ่งเป็นอาคารใหญ่ 3 ชั้น เป็นทั้งตลาดสด ตลาดสินค้านานาชนิด และตลาดวิชา โดยพื้นที่ชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สอง เป็นตลาดสด และตลาดขายสินค้าต่างๆ ส่วนชั้นที่สามเป็นตลาดความรู้ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท

ลุงชาญ ได้เล่าว่า ท่านเป็นคนจังหวัดลำปาง และได้มาทำธุรกิจที่จังหวัดขอนแก่นในปี 2509 ทำศูนย์การค้า-ตลาด ลุงชาญได้สร้างตลาดด้วยอุดมการณ์ เป็นครัวของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้บริโภคอาหารคุณภาพดี และสินค้าอาหารสดผักปลาต่างๆ ก็มาจากฟาร์มปลอดสารพิษ โดยท่านยังได้ควักกระเป๋าว่าจ้างนักวิชาการ และชื้ออุปกรณ์เครื่องมือสำหรับตรวจวัดสารตกค้างในอาหารที่นำมาขายในตลาดด้วย และนอกจากเป็นตลาดปลอดสารพิษแล้ว ยังเป็นตลาดสีฟ้า ตลาดสะอาด และตลาดปลอดบุหรี่ จนได้ชื่อเป็นตลาดชั้นหนึ่งของประเทศ

สำหรับโรงเรียนนั้น ลุงชาญเล่าว่ามีความคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 จากนั้น ก็ใช้เวลาเตรียมการด้านต่างๆ จนได้เปิดโรงเรียนในปีที่ผ่านมา สำหรับโรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท จัดเป็นโรงเรียนพิเศษ เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับประชาชนทั่วไปทุกวัย ขณะนี้ มีนักเรียนมาเรียนไม่ถึง 100 คน สำหรับบุคลากรครูอาจารย์นั้น มี 12 คน เป็นชาวจีนทั้งหมด โดยลุงชาญ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีน เชิญมาเป็นพิเศษ

โรงเรียนฯนี้ นอกจากส่วนที่เป็นห้องเรียนแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สนับสนุนความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย-จีน ได้แก่ ห้องแสดงนิทรรศการ ห้องสมุดทั่วไป ห้องสมุดสำหรับเด็ก ห้องประชุม ห้องสำนักงานวิจัยวัฒนธรรมร่วมไทย-จีน ดังในวันที่เปิดสำนักวิจัยวัฒนธรรมไทย-จีน ก็มีนิทรรศการชนชาติจ้วง ซึ่งเป็นชนชาติที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได นอกจากนี้ ยังมีการสร้างบรรยากาศความรู้วัฒนธรรมจีนในบริเวณโรงเรียน ได้แก่ ภาพเขียนนักปราชญ์โบราณ นักเขียน กวี ภาพเขียน

แรงบันดาลใจในการทำตลาดความรู้ และโรงเรียนฯ

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแรงบันดาลใจในการทำโรงเรียนฯ ลุงชาญบอกถึงเหตุผลที่แสนธรรมดาว่า ท่านเป็นลูกจีนคนหนึ่ง...

ที่สำคัญสิ่งที่ท่านดำเนินอยู่ในขณะนี้ ก็สะท้อนและสืบเนื่องจากความคิดและประสบการณ์ในช่วงวัยหนุ่ม ชีวิตในวัยหนุ่มของท่านเป็นมิตรสนิทสนมกับจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ผู้สร้างคุณูปการยิ่งในการค้นคว้าด้านภาษาและชนชาติ โดยมีผลงานชิ้นโดดเด่น อาทิเช่น “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ”, “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” และ “โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นต้น งานเขียนหลายชิ้นของจิตร ภูมิศักดิ์ ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบรากเหง้าคนไทย คุณพ่อชาญเป็นมิตรแท้ที่ได้ช่วยเหลือตีพิมพ์งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ยุคต้นๆอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่ท่าน และคุณป้าจินตนา เนียมประดิษฐ์คู่ชีวิต ได้ทำสำนักพิมพ์เทเวศน์ ที่กรุงเทพฯ

วันนี้ ลุงชาญยังคงรำลึกถึงสหายรักผู้ล่วงลับ โดยได้เปิดห้องสมุดจิตร ภูมิศักดิ์ เก็บรวบรวมหนังสือ ผลงาน ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ของจิตร ภูมิศักดิ์ ท่านบอกว่ายังกำลังเสาะหาและเก็บรวมรวบงานของจิตรต่อไป ในห้องนี้ยังมีภาพนักเขียนจีนชื่อก้องโลกคือ หลู่ซวิ่น (ค.ศ.1881-1936) ผู้หันหลังให้อาชีพแพทย์หลังจากที่พบว่าความป่วยไข้ทางปัญญาและจิตวิญญาของผู้คน เลวร้ายเสียยิ่งกว่าความเจ็บป่วยทางกาย อันสะท้อนถึงความชื่นชอบยกย่องนักคิดนักเขียน ผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อประชาชน และสังคมโดยแท้

ลุงชาญ มีความสนใจพิเศษเรื่องชนชาติและภาษา การค้นคว้าเกี่ยวชนชาติไทยมาจากไหน โดยไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของนักวิชาการชาวฝรั่งเศส นายยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) ที่ระบุว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต และการค้บพบแหล่งโบราณคดีที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรราชธานี ก็เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน บรรพบุรุษไทยอยู่ที่สุวรรณภูมินี่เอง นอกจากนี้ เด็กไทยก็ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดบรรพบุรุษชนชาติไทยมาถึง 30 ปี ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร ที่คนไทยไม่รู้จักรากเหง้าตัวเอง…

และชนชาติที่ลุงชาญสนใจมากที่สุด คือ ชนชาติและวัฒนธรรมจ้วง ชนชาติที่พูดภาษาตระกูลไทในจีนภาคใต้

“ทำไม ถึงชื่อ ตลาดบางลำภู” ลุงชาญบอกว่า ก็ไม่มีอะไรมาก ตอนนั้น มีคนเสนอชื่อมาหลายชื่อ ก็ไม่ลงตัว ลุงชาญเลยบอกว่า งั้นเอาชื่อที่คนสมัยนั้นรู้จักคุ้นเคยดี คือ “บางลำภู”

วันนี้ ลุงชาญ ก็ได้บรรลุฝันในการสร้างตลาดบางลำภูของท่าน เป็นตัวอย่างตลาดที่สะอาด มีมาตรฐานสูง ที่พิเศษเป็นตลาดวิชาสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใฝ่รู้ เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน จีนซึ่งมิใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกับชาวไทย.

คลิกอ่าน จ้วง ไทย รากเหง้าเดียวกัน
ภาพพิธีเปิดสำนักวิจัยร่วมวัฒนธรรมไทย-จีนวันที่ 18 ม.ค. 2553 โดยอนุกูล ตังคณานุกูลชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีฯ(คนที่สามจากซ้าย) พร้อมด้วยเจ้าของสำนักฯชาญ เนียมประดิษฐ์ (คนที่สอง จากซ้าย) และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ฟ่าน หงกุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิทยาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมณฑลกวางสี (ซ้ายสุด)  ทองแถม นาถจำนง (ขวาสุด)

โรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท
ห้องสมุดจิตร ภูมิศักดิ์ ในโรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท
นิทรรศการชนชาติจ้วง ในวันพิธีเปิดสำนักวิจัยร่วมวัฒนธรรมไทย-จีน
เวทีอภิปราย “จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวัน”
ตลาดบางลำภู เมืองขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น