เอเอฟพี-จีนแถลงให้การต้อนรับบริษัทอินเทอร์เน็ตต่างชาติทุกรายที่ดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย หลังจากกูเกิลออกมาแถลง อาจถอนตัวจากจีนเพราะโดนแฮ็คข้อมูลและถูกเซ็นเซอร์
เจียง อี๋ว์ โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาแถลงตอบโต้กูเกิลอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) โดยย้ำว่า รัฐบาลจีนเองก็ต่อต้านปฏิบัติการคุกคามบนไซเบอร์ทุกรูปแบบ เช่นการแฮ็คข้อมูล
“จีนก็เหมือนกับชาติอื่นๆ ที่บริหารจัดการอินเทอร์เน็ตภายใต้กรอบของกฎหมาย” เจียง แถลงอย่างหนักแน่นว่า จีนให้การต้อนรับกิจการอินเทอร์เน็ตต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการอยู่แล้ว โดยการปฏิบัติตามกฎหมายของจีน
ขณะที่ หวัง เฉิน โฆษกสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ออกแถลงเตือนประเด็นสื่อลามากอนาจาร การคุกคามบนไซเบอร์ และการฉ้อโกงออนไลน์ต่างๆ โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่จัดระเบียบความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวถูกขึ้นไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานสารสนเทศของทางการจีน
หวัง เฉิน ยังกล่าวด้วยว่า จีนเองก็ตกเป็นเหยื่อของแฮ็คเกอร์ทั้งหลาย และจีนก็ต่อต้านการกระทำดังกล่าวอย่างเต็มที่
แถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งมีขึ้นหลังจากกูเกิลประกาศจะถอนตัวจากจีนหลังโดนแฮ็คข้อมูลลูกค้า แสดงให้เห็นว่า จีนไม่ยอมถอยในจุดยืนเรื่องนโยบายเซ็นเซอร์ของตน ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นไปในภาพรวมฯ ไม่ได้พาดพิงถึงกูเกิลโดยตรง
จีนจะเสียเปรียบหากกูเกิลถอนตัว?
หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ สื่อภาษาอังกฤษในเครือของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ของทางการจีน รายงานวันที่ 14 ม.ค. ว่า หากประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างจีน ไม่สามารถสร้างรากฐานที่ดีให้กับเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของโลกได้ จีนก็อาจต้องเผชิญกับการถอยหลังเข้าคลองและต้องสูญเสียวัฒนธรรมการเล่นเน็ตของตัวเองไป
เนื้อข่าวยังกล่าวว่า หากกูเกิลถอนตัวจากจีนซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เน็ตมากที่สุดในโลกถึง 360 ล้านคนจริง จีนก็จะเผชิญกับความสูญเสียชนิดประเมินค่ามิได้กับการที่จีนเคยประกาศว่าจะตนจะหันหน้าเข้าหานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้ง จีนก็อาจต้องสูญเสียธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตด้วย
กูเกิลออกมาประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จะไม่ยอมก้มหัวให้กับการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีนอีกต่อไป และจะไม่กลัวกับการถูกขับออกจากประเทศนี้ ทั้งนี้ เพื่อประท้วงที่มีผู้แอบเจาะอย่างเหนือชั้นเข้าไปในบัญชีอีเมล์ของลูกค้ากูเกิลซึ่งพุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนจีน
“บนทางด่วนของระบบข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนั้น ผู้ขับขี่ไม่ได้ต้องการแค่ความปลอดภัยในการขับขี่ แต่ยังต้องการการจราจรที่สามารถเคลื่อนไหวได้โดยอิสระด้วย ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้ข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระของข่าวสารดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมอารยะ” หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์กล่าวและว่า หากกูเกิลและจีนเดินกันคนละทาง รังแต่จะเสียหายกันทั้งคู่
จีนกล่าวว่า ขณะนี้ตนกำลังหาข้อมูลเรื่องการประกาศถอนตัวของกูเกิล ดังนั้นจึงยังไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศ พาณิชย์และสารสนเทศน์ ออกมาแสดงความเห็นแต่อย่างใด
หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ ซึ่งเล่นประเด็นนี้เต็มหน้าแรก ยังกล่าวว่า การเซ็นเซอร์เป็นสิ่งที่ทำได้ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างจีน ทั้งนี้เพื่อความสมดุลย์ทางสังคม อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของการเซ็นเซอร์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
“เป็นเรื่องที่ท้าทายที่รัฐบาลจีนต้องค้นให้เจอว่า จะตรวจเช็คหรือเซ็นเซอร์ตรงจุดไหนและอย่างไรบนทางด่วนข่าวสารข้อมูล” โกลบอล ไทม์กล่าว
ทำเนียบขาวหนุนกูเกิล
ทำเนียบขาวออกโรงหนุน “สิทธิเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” ในวันพุธที่ผ่านมา ด้วยการแถลงสนับสนุนสิทธิของการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างอิสระ ทั้งยืนยันว่า ได้พูดคุยกับกูเกิลที่ขู่ว่าจะถอนตัวออกจากจีนหลังจากถูกแอบตรวจเช็คและเซ็นเซอร์แล้ว
โรเบิร์ต กิบส์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า จะไม่ขอลงในรายละเอียดของการหารือกับกูเกิล และว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯและรัฐบาลสนับสนุนสิทธีเสรีภาพของการใช้อินเทอร์เน็ต โดยประธานาธิบดีโอบาม่าได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในการเยือนจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจังต่อการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเสรี และการไม่ถูกเซ็นเซอร์
โฆษกทำเนียบขาวยังกล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตันได้เรียกร้องให้จีนออกมาอธิบายถึงสิ่งที่กูเกิลกล่าวว่า มีนักเจาะข้อมูลที่เหนือชั้นเข้าไปเจาะข้อมูลของนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนจีน โดยสหรัฐฯ ยังรอฟังการอธิบายของจีนอยู่
ซึ่งต่อกรณีนี้ เจียง อี๋ว์ โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน ตอบเมื่อถูกถามว่า จีนได้พยายามผ่อนปรนท่าทีของตนต่อสหรัฐฯ อยู่แล้ว