xs
xsm
sm
md
lg

"ดัชนีคอรัปชัน” ชี้ไต้หวันโปร่งใสขึ้น ไทยแย่ลงเทียบเท่าซัลวาดอร์-ปานามา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนภาพสี แสดงดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน CPI (Corruption Perceptions Index 2009) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยสีเข้มคือค่าคะแนนต่ำ เพราะถูกมองว่าเป็นประเทศ ที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และประพฤติมิชอบอย่างแพร่หลาย (ภาพจากทีไอ)
เอเจนซี-องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสำรวจและจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน CPI (Corruption Perceptions Index 2009) ประจำปี พ.ศ. 2552 พบว่าสถานการณ์ในไต้หวันกระเตื้องขึ้น โดยเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 37 ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วสองอันดับ (39) มีคะแนน 5.6

CPI (Corruption Perceptions Index) คือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชันมากที่สุด) – 10 (คอร์รัปชันน้อยที่สุด) ที่จัดทำเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยกลุ่มที่ได้คะแนนมากจะได้รับการจัดอันดับต้นๆแสดงถึงสถานการณ์คอรัปชันต่ำ

ทั้งนี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนี

ในการจัดอันดับเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียนั้น สถานการณ์คอรัปชันในไต้หวันอยู่ กระเตื้องขึ้นมาอยู่อันดับสี่ ตามหลังสิงคโปร์ ซึ่งได้9.2 คะแนน, ฮ่องกง 8.2 คะแนน และญี่ปุ่น 7.7 คะแนน แต่ดีกว่าเกาหลีใต้เล็กน้อย ซึ่งมีคะแนน 5.5

ขณะที่สถานการณ์คอรัปชันในประเทศจีนแย่ลงมาอยู่ที่อันดับ 79 ด้วยคะแนน 3.6 ตกลงจากอันดับ 72 ของปีที่แล้ว ในการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศอื่นๆ อินเดียอยู่อันดับ 84 ด้วยคะแนน 3.4, รัสเซียอยู่อันดับที่ 146 ด้วยคะแนน 2.2, ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า ด้วยคะแนน1.4

โดยมีนิวซีแลนด์ เดนมาร์ก สิงคโปร์ สวีเดนและสวิส เป็นกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างปลอดคอรัปชั่น โดยครองสามอันดับแรกด้วยคะแนน9.4, 9.3 และ 9.2 ตามลำดับ และประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับ 19 ด้วยคะแนน 7.5
ขณะที่ไทยได้อันดับที่ 84- 3.4 คะแนน ตกลงจากอันดับที่ 80 เมื่อปีที่แล้ว เท่ากับประเทศเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา อินเดีย และปานามา

ประเทศที่ได้คะแนนน้อยนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงครามหรือมีความขัดแย้งภายในประเทศ ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งได้แก่ ประเทศอิรัก (1.5 คะแนน) ซูดาน (1.5 คะแนน) พม่า (1.4 คะแนน) อัฟกานิสถาน (1.3 คะแนน) และโซมาเลีย (1.1 คะแนน)

หง หย่งไท่ ประธาน TI-ไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันดูเหมือนจะปีนขึ้นมาจากปลักหล่ม ได้แล้วหลังจากหล่นไปอยู่อันดับที่ 39 เมื่อปีกลาย ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดที่ไต้หวันเคยได้รับ

“อย่างไรก็ตาม ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก ที่จะสะสางและสร้างความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล” หงกล่าว

ต่อผลสำรวจล่าสุดที่ออกมานี้ ทางกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน ได้กล่าวว่า เส้นสายทุจริตคอรัปชั่น ที่เกิดจากการการทุจริตคอรัปชั่นและฉ้อราษฎร์บังหลวงในยุคสมัยของอดีตประธานธิบดี เฉิน สุยเปี่ยนและครอบครัว รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของเขา ได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไต้หวันในระดับสากล

และต่อข้อเสนอขององค์กรเอกชนอย่าง มูลนิธิเพื่อสันติภาพของไต้หวัน (Peacetime Foundation of Taiwan) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการบริหารของรัฐบาลนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายนั้นอยู่แล้ว ที่จะบูรณาการกับภาคเอกชน เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ขจัดการทุจริต กระทำผิดวินัย เรียกรับสินบน และซื้อคะแนนเสียง

ในปีพ.ศ. 2552 นี้ TI ได้จัดอันดับจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 180 ประเทศ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่าง ๆ ที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ 2551 และ 2552 จำนวน 10 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น