xs
xsm
sm
md
lg

ผวาแผ่นดินถล่ม เขื่อนสามโตรกเก็บน้ำต่ำกว่าเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนสามโตรกทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี - วิกิพีเดีย
เอพี – พญามังกรไม่อาจบังคับธรรมชาติได้ดั่งใจปรารถนา จำต้องชะงักแผนเพิ่มระดับน้ำสูงสุดในเขื่อนยักษ์สามโตรก เนื่องจากอากาศแห้งแล้งจัด และยังมีความเสี่ยงสูง ที่แผ่นดินจะถล่ม

การเพิ่มระดับน้ำถึงขีดสุดถือเป็นบทสำคัญของการสร้างเขื่อน ความยาว 660 กิโลเมตร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำโครงการใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างนานหลายสิบปี โดยนอกจากผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเศรษฐกิจ ที่โตวันโตคืนแล้ว เขื่อนสามโตรกยังเป็นวิธีการดีที่สุดในการยุติอุทกภัยบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแยงซี ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากมาหลายศตวรรษ
สภาพแห้งแล้งในเมืองอู่ซันบนฝั่งแม่น้ำแยงซีตอนกลางเมื่อปี 2546 - เอเจนซี่
ตามแผนการนั้น เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มการกักเก็บน้ำในเขื่อนมาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดที่ระดับ 175 เมตรภายในต้นเดือนพ.ย.ซึ่งจะทำให้เขื่อนมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 พ.ย. น้ำในเขื่อนเพิ่มระดับถึง 171 เมตร จากนั้น ก็ไม่สูงขึ้นอีกเลย

โฆษกของคณะกรรมาธิการดูแลโครงการเขื่อนสามโตรกผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยนามระบุว่า การเพิ่มระดับน้ำสูงสุดเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสภาพการณ์ขณะนี้ น้ำจากตอนบนแม่น้ำไหลลงมาน้อยมาก ซึ่งน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วถึงร้อยละ 34 ประกอบกับเกิดความแห้งแล้งอย่างหนักในมณฑลเหอหนัน และเจียงซี ซึ่งอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ ทางเขื่อนจึงต้องระบายน้ำไปบรรเทาปัญหา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไฉจิง นิตยสารแนวสืบสวน เปิดโปง ชั้นนำของจีนยังเปิดเผยรายงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งมหานครฉงชิ่ง ซึ่งระบุว่า การเพิ่มระดับน้ำเขื่อนสามโตรกถึงจุดสูงสุด ทำให้โอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรณีวิทยา เช่นแผ่นดินถล่ม มีสูงขึ้น

นอกจากนั้น ระดับน้ำ ที่เพิ่มยังทำให้รอยแยกจากแผ่นดินถล่มเดิม เกิดปริแยกอีก เนื่องจากดินบริเวณรอบเขื่อนจะยิ่งอิ่มน้ำ และอ่อนตัวลง โดยก่อนหน้าการรายงานข่าวของไฉจิง ก็เคยมีคำเตือนทำนองเดียวกันนี้จากหลายฝ่ายมาแล้ว

ไฉจิงยังอ้างผลการตรวจสอบในปีนี้ของเจ้าหน้าที่เขตวั่นโจว,เมืองฉงชิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนยักษ์ว่า พบพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรณีวิทยาเกือบ700 แห่ง ซึ่ง587 แห่ง เป็นจุดที่อาจเกิดแผ่นดินถล่มได้

แม้โฆษกเขื่อนสามโตรกจะปฏิเสธเรื่องความเสี่ยงทางธรณีวิทยา เป็นสาเหตุให้ต้องระงับแผนเพิ่มระดับน้ำ แต่หยาง หยง นักธรณีวิทยาในเมืองเสฉวน ซึ่งเฝ้าติดตามโครงการเขื่อนสามโตรกมองว่า ความเสี่ยงแผ่นดินถล่มน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้รัฐบาลระงับการกักเก็บน้ำ เพราะตระหนักถึงปัญหานี้ดี

ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางการเมืองชูฉือใกล้ฉงชิ่ง ได้ออกประกาศฉุกเฉิน หลังจากพบรอยแยกเกิดขึ้นใหม่ ระยะทาง 400 เมตรในบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินถล่ม ซึ่งเป็นเนินลาดเหนือเมืองขึ้นไป นอกจากนั้น ผนังบ้านเรือนประชาชนยังเกิดรอยแยกขึ้น ทางการจึงอพยพชาวบ้านหลายสิบคนออกจากบริเวณดังกล่าวในวันนั้น และเมื่อ 6-7 ปีก่อนก็เคยมีการอพยพผู้คนออกจากบริเวนเดียวกันนี้มาแล้ว

ศาสตราจารย์ จาง หัว แห่งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยเขื่อนสามโตรก (Three Gorges University) ระบุว่า มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถป้องกันอันตรายแก่ชาวบ้าน ที่อาศัยใกล้เขื่อนได้อย่างเพียงพอ แต่ก็ยอมรับว่า การเพิ่มระดับน้ำ ทำให้ไม่อาจปฏิเสธแนวโน้มอันตราย ที่อาจเกิดขึ้น และคาดทำนายได้ยาก เนื่องจากบริเวณรอบ ๆ เขื่อนนั้น เป็นดินอ่อนมิใช่คอนกรีต
กำลังโหลดความคิดเห็น