เอเอฟพี – ผลการศึกษาระบุ ผู้บาดเจ็บล้มตายจากแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนเมื่อปีที่แล้ว อาจเป็นเหยื่อของธรณีวิปโยค ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 4,000 ปีก็เป็นได้
ในรายงานผลการศึกษา ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารด้านธรณีศาสตร์ ชื่อว่า เดอะ เจอร์นัล เนเช่อร์ จีโอไซเอินซ์ (the Journal Nature Geoscience) นายเสิ่น เจิ้งคังแห่งสำนักจัดการเหตุแผ่นดินไหวของจีน พร้อมคณะ ระบุว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบร่วมกันของคลื่นความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง, สภาพทางธรณีวิทยา ที่ผิดปกติ และ“เครื่องกีดขวาง” ใต้พิภพ 3 แห่งไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ใช้ระบบ GPS (Global Positioning System) ซึ่งเป็นระบบแสดงตำแหน่งที่อยู่บนโลก และข้อมูลจากเรดาร์อินเตอร์ฟีโรเมตริก จำลองภาพของรอยเลื่อนเปลือกโลกหลงเหมินซัน ซึ่งอยู่ตรงริมแอ่งเสฉวนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะที่มันถูกแรงสั่นสะเทือนระดับ 7.9 ริกเตอร์ ฉีกกระชากให้เปิดออก
ผลการศึกษาพบว่า เขตรอยเลื่อนดังกล่าวมีลักษณะซับซ้อน กล่าวคือแนวราบของรอยเลื่อนในบางระยะจะเอียงลงเล็กน้อย แต่บางระยะกลับเงยสูงขึ้น จนเกือบเป็นแนวตั้ง ซึ่งส่งผลให้ ขณะเกิดเหตุการณ์ การเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนจึงมีการเปลี่ยนแปลง ที่ผันผวนอย่างมาก
การเคลื่อนไหวเริ่มต้นจากการผลักอย่างแรงในแนวตั้ง ทำให้ชั้นหินด้านล่างถูกเบียดดันขึ้นมาอยู่เหนือชั้นหินด้านบน จากนั้น การเคลื่อนไหวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของการผลักในแนวระดับ
แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ทำให้คลื่นพลังงานพุ่งออกมาจากรอยเลื่อน และฉีกกระชากชั้นหินใต้เมืองอิ้งซิ่ว,เป่ยชวน และหนันป้า ให้เปิดออก การศึกษาระบุว่า จุดที่ตั้งของเมืองทั้งสามแห่ง เป็น“เครื่องกีดขวาง” แรงสั่นสะเทือน ทว่าเกิดมาพังจากแรงสั่นสะเทือน ที่ผิดปกติในคราวเดียว ซึ่งปรากฏการณ์ในลักษณะนี้น่าจะเกิดขึ้นเพียงหนเดียวในรอบ 4,000 ปีเท่านั้น
และแม้ปัจจุบัน ยังคงเกิดอาฟเตอร์ช้อคอยู่บ้าง แต่ก็คาดว่า จะไม่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน
แผ่นดินไหวที่เสฉวนเมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตเกือบ 88,000 คน เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของจีนในรอบกว่า 50 ปี