เอเอฟพี – สหรัฐฯ เจอหมัดเด็ดพญามังกร อุตส่าห์พยายามตัดกำลังอิหร่านในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเชื่อว่า แท้จริงลอบผลิตอาวุธมหาประลัย แต่พญามังกรกลับขายน้ำมันเบนซินปริมาณมหาศาลให้อิหร่านอย่างไม่ยี่หระ
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ซึ่งอ้างแหล่งข่าวจากเทรดเดอร์และนักการธนาคาร รายงานว่า ขณะนี้บริษัทน้ำมัน ซึ่งเป็นวิสาหกิจรัฐของจีนหลายราย กำลังขายน้ำมันเบนซิน ผ่านพ่อค้าคนกลางให้กับอิหร่าน เป็นปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ที่อิหร่านนำเข้าน้ำมันเบนซินเลยทีเดียว โดยเริ่มมีการส่งออกกันในเดือนนี้ (ก.ย.)
รายงานยังระบุว่า เป็นการขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่ออิหร่านไม่ครอบคลุมการนำเข้าเชื้อเพลิง
รายงานข่าวชิ้นนี้อ้างคำพูดของนาย ลอว์เรนซ์ อีเกิลส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านโภคภัณฑ์ของเจพี มอร์แกน ซึ่งระบุว่า น้ำมันเบนซินของจีนกำลังเดินทางจากตลาดหลายแห่งในเอเชีย ซึ่งพร้อมจะส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อในทันที ไปยังอิหร่านถึงวันละ 30,000-40,000 บาร์เรล หรือประมาณร้อยละ 33 ของปริมาณนำเข้าน้ำมัน 120,000 บาร์เรลต่อวันของอิหร่าน
ด้านนักวิเคราะห์หลายรายต่างเห็นว่ารายงานข่าวของไฟแนนเชียล ไทมส์นั้นเป็นความจริง หากพิจารณาจากเหตุผลที่ว่า จีนกับอิหร่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก และปริมาณส่งออกดังกล่าวก็อยู่ภายในขอบเขตของกำลังการผลิตน้ำมันเบนซิน ที่ล้นเกินของจีน โดยในปีนี้ จีนได้เพิ่มกำลังการกลั่น ขณะที่มีการส่งออกน้ำมันเบนซิน 140,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนสิงหาคม ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดของปีนี้ แม้ว่าข้อมูลของนักวิเคราะห์มิได้ระบุประเทศเป้าหมายในการส่งออกก็ตาม
ปัจจุบัน จีนกำลังช่วยพัฒนาแหล่งน้ำมันในอิหร่าน โดยเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา บริษัทไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์เปอเรชั่น (CNPC) ของจีน และบริษัทเนชั่นแนล อีราเนียน ออยล์ (NIOC) ของอิหร่าน ได้ลงนามสัญญา มูลค่า 1,760 ล้านดอลลาร์ ในโครงการริเริ่มพัฒนาแหล่งน้ำมันทางภาคตะวันตกของอิหร่าน ซึ่งคาดว่าในช่วง 4 ปีข้างหน้า จะสามารถผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 75,000 บาร์เรล
ต่อมา ในเดือนมีนาคม อิหร่าน แอลเอ็นจี ( Iran LNG) บริษัทก๊าซของรัฐบาลอิหร่าน และบริษัทข้ามชาติของจีนกลุ่มหนึ่งยังได้ลงนามสัญญา มูลค่า 3,390 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งก๊าซในอิหร่านอีกด้วย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้อิหร่านเป็นชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้าน้ำมันเบนซิน เนื่องจากอิหร่านไม่มีโรงกลั่นน้ำมันมากนัก