เอเอฟพี – ยักษ์พลังงานสหรัฐฯ “เฟิร์สต์ โซลาร์” คว้าสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โรงใหญ่สุดในโลกที่ทะเลทรายในมองโกเลียใน ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนเชื่อว่า อาจช่วยบรรเทาปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้
ภายใต้บันทึกความร่วมมือซึ่งบริษัทสหรัฐฯ จรดหมึกกับเจ้าหน้าที่จีน ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเทมป์ รัฐอาริโซน่าเมื่อวันอังคาร (8 ก.ย.) ระบุว่า เฟิร์สต์ โซลาร์ มีแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า 2 กิกะวัตต์ในเมืองออร์โดส ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยแบ่งเป็น 4 เฟสในระยะเวลา 10 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถซัปพลายพลังงานให้แก่ประชาชนได้มากถึง 3 ล้านครัวเรือน
ไมค์ เอิร์น ซีอีโอของบริษัทเฟิร์สต์ โซลาร์ กล่าวในระหว่างแถลงข่าวการร่วมมือว่า สหรัฐฯ และจีนจะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงจุดที่ต้นทุนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เท่ากับหรือน้อยกว่าการใช้พลังงานในรูปแบบดั้งเดิม และ “กลายเป็นต้นแบบในการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง”
ส่วนมูลค่าของสัญญาดังกล่าวนั้นไม่ได้รับการเปิดเผย แต่ทางเฟิร์สต์ โซลาร์เปิดเผยว่า หากสร้างโรงงานคล้ายคลึงกันในสหรัฐฯ อาจต้องใช้ต้นทุนสูงถึง 5-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
“เนื่องจากในประเทศจีนต้นทุนแรงงานและปัจจัยอื่นๆ ค่อนข้างต่ำ เราคาดว่าต้นทุนการสร้างโรงงานน่าจะต่ำกว่า ตอนนี้เรายังไม่ได้คำนวณถึงต้นทุนแท้จริงในการสร้างโรงงานในจีน เพราะรายละเอียดโครงการยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ” ลิซ่า มอร์ส โฆษกหญิงจากเฟิร์สต์ โซลาร์กล่าว
ทั้งนี้ จีนวางแผนผลิตกระแสไฟฟ้า 10% จากแหล่งพลังงานใหม่ภายในปี 2553 และเพิ่มเป็น 15% ภายในปี 2563 โดยพลังงานใหม่ก็รวมถึงพลังงานลม น้ำ ชีวมวล และแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้รวมทั้งสิ้น 90 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลปักกิ่งตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพขึ้นเป็น 2 กิกะวัตต์ภายในปี 2554 และเพิ่มเป็น 10-20 กิกะวัตต์ภายในปี 2563
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ออร์โดสเฟสแรกนั้นจะเริ่มตอกเสาเข็มในวันที่ 1 มิถุนายนปีหน้า ความสามารถการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่ 2 และ 3 นั้น ความสามารถการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 100 เมกะวัตต์ และ 870 เมกะวัตต์ตามลำดับ คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2557 ขณะที่เฟสที่ 4 จะสามารถผลิตกระแสไฟได้เพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์คาดแล้วเสร็จภายในปี 2562