xs
xsm
sm
md
lg

หลุดยุค “ซีดี” ธุรกิจเพลงจีนก้าวสู่โลกดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษณาเครื่องเล่นเพลง MP3 ยี่ห้อหนึ่ง
เอเจนซี – ธุรกิจเพลงจีนหลุดยุค “ซีดีเพลง” ก้าวสู่โลกดิจิตอล ตอบรับกระแสอินเตอร์เน็ตที่มาแรงและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ฟัง ด้านแหล่งข่าววงในมอง เป็นโอกาสทองสำหรับศิลปินนอกกระแสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

บนรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองปักกิ่งช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ฮั่น สง ที่เดินทางจากสถานีตงจื๋อเหมินไปยังกั๋วเม่า นั่งฟังเพลงจากเครื่องเล่น iPod อย่างบันเทิงเริงรมย์ เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมสามารถดาวน์โหลดทุกเพลงในโลกจากเว็บไซต์ และฟังเพลงที่ชอบได้ทุกที่”

ฮั่น สง เป็นตัวอย่างแฟนเพลงวัยรุ่นที่หันมาดาวน์โหลดเพลงลงโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเล่นเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนที่อุตสาหกรรมเพลงจะเดินมาถึงยุคของ MP3 และเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ที่รอให้ดาวน์โหลดหราอยู่ในอินเตอร์เน็ต แฟนเพลงเคยคลั่งไคล้นักร้องถึงขั้นไปยืนอออยู่หน้าร้านขายเพลงตั้งแต่เที่ยงคืน เพื่อรอซื้อหาอัลบั้มเพลงล่าสุดของนักร้องขวัญใจ

แต่วันนี้ฮั่นให้คำตอบว่า “การซื้อซีดีเพลงเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว ผมไม่ซื้อซีดีเพลงมา 4-5 ปีแล้ว ผมว่าตอนนี้ซีดีก็กลายเป็นแค่ของสะสมหรือของขวัญที่มอบให้กันเท่านั้น”

วิวัฒนาการของตลาดเพลงข้างต้นนี้ดูเหมือน ซ่ง เค่อ อดีตรองผู้จัดการของค่ายเพลงวอเนอร์ มิวสิก จะคาดเดาได้ตั้งแต่หลายปีก่อน ในปี 2543 เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัท และเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองในนาม “Taihe Rye Music” ที่ปักกิ่ง โดยบริษัทของเขาเป็นบริษัทแรกที่เริ่มธุรกิจเพลงดิจิตอลในประเทศจีน

“ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ นักร้องที่ค่ายเพลงผลักดัน เป็นคนที่ทุกคนให้ความสนใจ แต่ด้วยรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แฟนเพลงหันสู่โลกไซเบอร์แทน ยอดขายซีดีเริ่มตก ขณะที่วงการเพลงดิจิตอลเริ่มบูมขึ้นสวนกระแส ทำให้ค่ายเพลงต่างๆ เริ่มตระหนักและหันมาจับกระแสใหม่ ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจเสียงเรียกสาย หรือ ริงโทน ด้วย” ซ่งกล่าว

ในปี 2546 บริษัท Taihe Rye ได้นำเพลงของนักร้องแผ่นดินใหญ่ “เตาหลาง” จำนวน 5 เพลงมาให้คอเพลงได้ดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ต ผลก็คือ มีผู้เข้ามาดาวน์โหลดมากกว่า 5 ล้านครั้ง สร้างเม็ดเงินให้แก่บริษัทไม่ต่ำกว่า 2 ล้านหยวน (ราว 10 ล้านบาท)

หลังจากนั้นในปี 2549 บริษัทก็ได้ส่งอัลบั้มเพลงแรกของ “หลี่ อี่ว์ชุน” ผู้ชนะเลิศการประกวดเวทีค้นฟ้าคว้าดาว “ซูเปอร์เกิร์ล” มาให้โหลดกันทางออนไลน์อีก ซึ่งกระแสตอบรับก็ดีมากสร้างรายได้ให้ราว 1 ล้านหยวน (ราว 5 ล้านบาท) ซ่งเปิดเผยว่า รายได้ทั้งหมดจากยอดจำหน่ายเพลงดิจิตอล โดยเฉพาะบริการดาวน์โหลดเพลงลงโทรศัพท์มือถือนั้น คิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทเลยทีเดียว
เว็บไซต์ ท็อป 100 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดเพลง
ศักยภาพการเติบโตของธุรกิจนี้เริ่มดึงดูดให้ผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแจมด้วย อย่างเช่นบริษัท เอ8 ดิจิตอล มิวสิก โฮลดิ้ง ซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง ก็ได้ลิขสิทธิ์เพลงในจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 60,000 เพลง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ออกแบบซอฟต์แวร์ชื่อว่า เอ8 บ็อกซ์ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มือถือสามารถเข้าถึงและดาวน์โหลดเพลงจากฐานข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย

ขณะที่ไชน่า โมบาย, เว็บไซต์ ท็อป 100, บริษัทบันเทิงของซันต้า ซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ และไอโก มิวสิก ก็จับมือกับบริษัทเพลงชื่อดังทั้งในจีนและต่างประเทศเพื่อสร้าง “ห้องสมุดเพลง” ที่ถูกต้องตามกฎหมายของตัวเอง

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จาง ย่าตง โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดังของจีน ที่มีชื่อเสียงในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงให้แก่นักร้องเพลงป็อปชื่อดังอย่าง หวัง เฟย (เฟย์ วอง) ได้ร่วมมือกับไชน่า โมบาย ซึ่งการันตีเรื่องการปกป้องลิขสิทธิ์สินค้า เผยแพร่อัลบั้มเพลงส่วนตัวของเขาที่ชื่อว่า “Underflow” ผ่านทางเว็บไซต์ โดยเพลงชื่อดังหลายเพลง อาทิ เพลง “I love You” ของหวัง เฟย รวมทั้งเพลงของจางก็กลายเพลงยอดนิยม ที่มีตัวเลขการดาวน์โหลดมากถึง 15 ล้านครั้งภายใน 1 เดือน

“จำนวนการโหลดเพลงมากกว่ายอดขายซีดีมาก” จางกล่าวพร้อมเสริมว่า ตลาดเพลงทุกวันนี้ ถ้าอัลบั้มเพลงไหนทำยอดขายได้สัก 50,000 แผ่น ทางค่ายเพลงก็เตรียมฉลองได้แล้ว “การดาวน์โหลดเพลงสร้างกำไรมหาศาลชนิดที่ซีดีเทียบไม่ได้เลยทีเดียว”

นอกจากนี้ การทำเพลงออนไลน์ยังให้ประโยชน์ต่อตัวนักร้องเองด้วย โดยจางมองว่า ปัจจุบันนักร้องที่ไม่ได้ทำเพลงกระแสก็สามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ เนื่องจากอินเตอร์เน็ตและรสนิยมการฟังที่เปลี่ยนแปลงไปของแฟนเพลง

นักร้องชื่อดัง หวัง เฟย
“ในอดีต ค่ายเพลงใหญ่ต้องลงทุนมหาศาลในการโปรโมทอัลบั้มเพลงของศิลปินทางวิทยุ มิวสิกวิดีโอ และร้ายขายซีดี ส่วนศิลปินอิสระที่ไม่มีค่ายเพลงสนับสนุน ก็มักประสบปัญหาไม่เป็นที่รู้จัก แต่ปัจจุบันศิลปินสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ ด้วยการอัพโหลดผลงานเพลงของตัวเองลงในอินเตอร์เน็ตให้ผู้ฟังได้ฟังโดยตรง” จางกล่าว

จาง ซึ่งเปิดบริษัทเพลง “ตง มิวสิก อินเตอร์เนชั่นแนล” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินเลือดใหม่ที่มีพรสวรรค์กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมเพลงไม่ค่อยสู้ดีนัก หากเรามีเพลงใหม่สัก 1,000 เพลง ก็จะมีเพลงสัก 800 เพลงในนี้ที่ฟังคล้ายๆ กัน แนวเพลงไหนประสบความสำเร็จก็จะมีแต่คนแห่กันทำตาม อย่างช่วงก่อนก็แนว R&B และ Hip Hop ซึ่งผมมองว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ แต่ศิลปินหน้าใหม่เขาพยายามสร้างแนวดนตรีที่แตกต่างจากแนวเดิมๆ

นอกจากนี้ การดึงเพลงเข้าสู่รูปแบบของเพลงดิจิตอล ก็ยังช่วยให้แฟนเพลงมีอิสรเสรีในการดาวน์โหลดเพลงไหนก็ได้ที่พวกเขาชอบ ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดทั้งอัลบั้ม

แต่โปรดิวเซอร์มือทองอย่างจางก็ชี้ว่า การขายเพลงเป็นรายเพลงก็มีข้อเสียอยู่ตรงที่เป็นการทำลายความเชื่อมโยงของทั้งอัลบั้ม เพราะเพลงเพียงหนึ่งเพลงไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกหรือเรื่องราวที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ซ่ง เค่อ ผู้ก่อตั้งบริษัท “Taihe Rye Music” ก็มองว่าความท้าทายใหญ่สำหรับการพัฒนาตลาดเพลงออนไลน์ของจีนก็คือ ความลังเลของผู้บริโภคที่จะจ่ายเงินโหลดเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์ วงการเพลงจีนต้องการการร่วมมือเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติเหล่านั้น รวมทั้งต้องการกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น