เอเยนซี – ผลการศึกษาของนักนิเวศวิทยาชี้ประชากรแพนด้ายักษ์ในธรรมชาติกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในมณฑลซื่อชวน หรือ เสฉวนได้รับผลกระทบจากอิทธิพลเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยเฉพาะถิ่นที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายถึง 1 ใน 4 ส่วน
สี่ว์ เว่ยฮวา หัวหน้าทีมวิจัยแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เหตุแผ่นดินไหวทำให้ถิ่นที่อยู่ของแพนด้ายักษ์แยกจากกัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแพนด้าเหลืออยู่น้อยมาก ราว 35 ตัว ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าถิ่นที่อยู่ของแพนด้ายักษ์ที่กระจัดกระจายนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของแพนด้ายักษ์ เนื่องจากสภาพดังกล่าวเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์สัตว์จากพ่อแม่ที่มาจากสายเลือดเดียวกัน หรือ “เลือดชิด” ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่แพนด้ายักษ์มีสุขภาพอ่อนแอ
ขณะที่ผลวิเคราะห์จากภาพถ่ายจากดาวเทียมทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้วในพื้นที่ตอนใต้ของเขตภูเขาหมินซัน ซึ่งใกล้กับจุดศูนย์กลางธรณีไหว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กว่า 354 กิโลเมตร หรือ 23 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของแพนด้าถูกทำลายราบ และป่าที่เหลืออยู่ก็แตกแยกออกเป็นพื้นที่เล็กๆ โดยนักวิจัยมองว่าจะต้องสร้างพื้นที่ป่าให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการดำรงชีวิตของแพนด้า เช่น ป่าไผ่ซึ่งเป็นอาหารหลัก
และเพื่อส่งเสริมให้แพนด้าสามารถติดต่อถึงกันระหว่างพื้นที่ที่แตกย่อยนั้น นักวิจัยแนะนำให้จัดตั้งเขตคุ้มครองพิเศษและขยายการคุ้มครองออกไปยังนอกเขตอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย ขณะเดียวกันนักวิจัยประเมินว่าปัจจุบันแพนด้ายักษ์ในธรรมชาติเหลืออยู่เพียง 1,600 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในป่าเขามณฑลซื่อชวนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติธรรมชาติ
ทั้งนี้ มณฑลซื่อชวนเป็นหนึ่งในพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกทำลาย และเป็นที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์จำนวนมากกว่าครึ่งของที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก อีกทั้งเป็นบ้านของพืชและสัตว์กว่า 12,000 สายพันธุ์.