เอเชี่ยนวอลสตรีทเจอร์นัล - ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีสัญชาติเอเชียเริ่มติดตั้งซอฟต์แวร์กลั่นกรองข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต “Green Dam” หรือ “เขื่อนสีเขียว” ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จัดส่งมาขายให้ลูกค้าในจีน ทั้งที่เมื่อช่วงต้นเดือนทางการจีนได้ออกมาประกาศเลื่อนแผนการติดตั้งซอฟต์แวร์อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากในอุตสาหกรรมและต่างชาติอย่างหนัก
บริษัทเอเซอร์ (Acer Inc.) ของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์พีซีรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกในแง่ของการส่งออก เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มส่งออกคอมพิวเตอร์พร้อมซีดีรอมที่บรรจุซอฟต์แวร์ “Green Dam” ในเดือนนี้
ด้านเอซัสเท็ค คอมพิวเตอร์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีรายใหญ่อีกรายหนึ่งในไต้หวันก็เปิดเผยว่า ได้จัดส่งคอมพิวเตอร์พร้อมกับซีดีซอฟต์แวร์ “Green Dam” ไปจำหน่ายยังประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ซึ่งเดิมทีเป็นวันที่รัฐบาลจะเริ่มให้มีการติดซอฟต์แวร์ตัวดังกล่าว แต่มาประกาศเลื่อนคำสั่งเสียก่อน
โดยโฆษกของเอซัสเท็กให้เหตุผลที่บริษัทยอมติดตั้งซอฟต์แวร์ทั้งที่รัฐบาลประกาศเลื่อนแผนแล้วว่า บริษัทเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลก็จะต้องเรียกร้องให้บริษัทติดซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ดี
เช่นเดียวกับบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่หมายเลข 4 ของโลกและใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอย่าง เลอโนโว กรุ๊ป ก็ยังแนบไฟล์ติดตั้งซอฟต์แวร์ “เขื่อนสีเขียว” ไปพร้อมกับคอมพิวเตอร์พีซีที่จำหน่ายในประเทศจีน ให้ลูกค้าตัดสินใจเองว่าจะติดตั้งซอฟต์แวร์หรือไม่
“มันขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะติดตั้งซอฟต์แวร์ตัวนี้หรือไม่” โฆษกของเลอโนโวกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ประกาศตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ทางการจะเรียกร้องให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่จำหน่ายในประเทศจีนต้องติดตั้งซอฟต์แวร์กลั่นกรองข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เพื่อป้องกันเยาวชนจากการเสพข้อมูลที่เป็นอันตรายจากโลกไซเบอร์ และเรียกร้องให้เริ่มติดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป
แต่หลังจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์ชาวจีน สมาคมอุตสาหกรรมต่างประเทศ และทางการสหรัฐฯ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบของจีนอย่างถึงพริกถึงขิง ว่าเป็นกฎที่ไร้เหตุผลและเป็นความต้องการของรัฐบาลกลางที่ต้องการควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตในแดนมังกร แรงกดดันดังกล่าวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การประกาศเลื่อนแผนการติดตั้งซอฟต์แวร์ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ก็มีคอมพิวเตอร์อีกหลายเจ้าที่ไม่ตอบรับนโยบายของรัฐบาล ดังเช่น คอมพิวเตอร์ยี่ห้อ เอชพี (HP) และเดลล์ (Dell) ที่ตัวแทนจำหน่ายเปิดเผยว่า คอมพิวเตอร์ของบริษัทเหล่านี้จะไม่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์คัดกรองดังกล่าว