เอเอฟพี – นายแพทย์นักสะสมชาวไต้หวันคลั่งไคล้ประเพณีมัดเท้าของหญิงชาวจีน เก็บสะสมรองเท้าคู่จิ๋วที่ปักลวดลายสวยงามไว้ราว 5 พันคู่ ทั้งยังเชื่อประเพณีมัดเท้าเป็นที่มาการประดิษฐ์รองเท้าส้นสูง
ขณะที่กลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีออกโรงโต้มีแต่คนป่วยเท่านั้น ที่เห็นการมัดเท้าที่สร้างความทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้หญิง ดูเซ็กซี่
เดวิด โก๊ะ (David Ko) ศัลยแพทย์ชาวไต้หวันวัย 54 ปี ผู้คลั่งไคล้งานศิลป์และถือประเพณีมัดเท้าหญิงชาวจีนในยุคโบราณเมื่อพันปีที่แล้วเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เขาใช้เวลาถึง 30 ปี เก็บสะสมรองเท้าคู่เล็กๆหลากสีสันของหญิงจีนที่ปฏิบัติตามประเพณีมัดเท้า
การมัดเท้านี้สร้างความเจ็บปวดแก่เด็กสาว ซึ่งต้องทำให้กระดูกเท้าแตกละเอียดและพับให้มีขนาดครึ่งหนึ่งของเท้าจริง โดยอ้างว่าการมัดเท้าทำให้ผู้หญิงมีความสวยงามและน่าเย้ายวนใจ
“ผมคิดว่าการมัดเท้าถือเป็นหนึ่งในรูปแบบแฟชั่นของจีนโบราณ ที่ทำควบคู่ไปกับการปักรองเท้าอย่างวิจิตรบรรจง และการสวมเครื่องประดับตามสมัยนิยม จนทำให้หญิงสาวยุคนั้นดูเซ็กซี่”
นายแพทย์โก๊ะ กล่าวอีกว่า “ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียนต่างถกเถียงกันว่าใครประดิษฐ์รองเท้าส้นสูงขึ้นมาเป็นคนแรก แต่ผมเชื่อว่าชาวจีนเป็นผู้สร้างรองเท้าส้นสูงขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้หญิงที่ถูกมัดเท้าเดินสะดวกขึ้น”
เพื่อนำเสนอความคิดของเขาเกี่ยวกับประเพณีมัดเท้าของชาวจีน นายแพทย์โก๊ะจึงจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 เล่ม และยังตระเวนจัดนิทรรศการแสดงรองเท้ายุคโบราณจำนวนมหาศาล ทั้งในไต้หวัน จีน แคนาดา และในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงวอชิงตัน
แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจนัก ที่นายแพทย์ผู้นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับจากบรรดาสตรีที่มองความหลงใหลของเขาเป็นเพียงความพึงพอใจทางเพศของคนป่วย และมองพัฒนาการของแฟชั่นรองเท้ามีคุณค่ามากกว่า
“ฉันเห็นด้วยว่าเราควรอนุรักษ์ประเพณีมัดเท้าให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ แต่มันไร้สาระถ้าจะพูดว่ามันเป็นเรื่องของความงามและแฟชั่นของยุคสมัยนั้น การมัดเท้าถือเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ควบคุมผู้หญิง เพื่อให้สนองตอบความต้องการของผู้ชายในสังคมที่ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงยังไม่มีสิทธิที่เท่าเทียม และความเชื่อที่ว่ามันคือความงามก็อยู่บนพื้นฐานของการกดขี่ทางเพศ” นั่นคือความเห็นจาก หวัง ปิง (Wang Ping) เลขาธิการสมาคมสิทธิทางเพศ
ประเพณีที่ทำให้เท้าของเหล่าสตรีมีรูปร่างพิกลพิการ และถูกเรียกขานกันว่า “ดอกบัวสามนิ้ว” ได้สืบทอดมายาวนาน การมัดเท้าได้หมดสิ้นไปจากสังคมจีนอย่างแท้จริงภายหลังที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองในปี 2492
จนถึงทุกวันนี้ประเพณีมัดเท้าที่ทำให้ผู้หญิงเคลื่อนไหวอย่างเจ็บปวด ยังมีหลงเหลือในชนบทอย่างเช่นมณฑลหยูนนาน
นายแพทย์โก๊ะมีรองเท้าคู่เล็กๆที่หญิงจีนสวมใส่ตามประเพณีมัดเท้าถึง 5,000 คู่ รองเท้าเหล่านั้นมีการปักอย่างวิจิตรบรรจงเพื่อสร้างแรงดึงดูดทางเพศ ยิ่งสตรีมีเท้าเล็กเพียงใด ก็ยิ่งถูกมองว่ามีความงดงามมาก ดึงดูดคู่แต่งงานได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ นายแพทย์โก๊ะยังสะสมเครื่องประดับสตรียุคโบราณอีกนักหมื่นชิ้น อาทิ ถุงเท้ายาว หัวเข็มขัด กล่องใส่เครื่องประดับ เครื่องเย็บปักถักร้อย และแก้วเหล้ารูปทรงรองเท้า
หนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับประเพณีมัดเท้านั้น รวบรวมเรื่องราวจากสัมภาษณ์หญิงสูงวัยราว 300 รายที่ถูกมัดเท้ามาตั้งแต่เด็ก และในหนังสือนี้ยังได้อธิบายว่า การมัดเท้าถือเป็น “ตำนานทางวัฒนธรรม” ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแฟชั่นรองเท้ายุคใหม่
นายแพทย์โก๊ะ กล่าวว่า เขามีความเห็นแตกต่างจากนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ที่มักมองประเพณีมัดเท้าในเชิงลบ แต่เขาต้องการมองประเพณีฯนี้ในแง่บวกและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของจีน
เขายังสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่ารองเท้าดอกบัวสามนิ้วเป็นต้นแบบสำหรับรองเท้าส้นสูงในยุคต่อมา โดยดูจากฐานเล็กๆของส้นรองเท้าที่เขาเก็บสะสมไว้
“ผมยังจำครั้งแรกที่เห็นผู้หญิงมัดเท้า ตอนนั้นผมอายุ 6 ขวบ และก็หลงใหลเท้าเล็กๆมาตั้งแต่บัดนั้น”
ในที่สุด มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจสะสมรองเท้าดอกบัว และกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากที่สุดคนหนึ่ง
สำหรับที่มาของประเพณีมัดเท้านั้นมีแตกต่างหลากหลาย แต่โดยทั่วไปเชื่อกันว่าการมีเท้าเล็กกลายเป็นแฟชั่นในยุคศตวรรษที่ 10 หลังจากจักรพรรดิเกิดความชื่นชมเท้าเล็กๆของนางรำที่มีริบบิ้นหลากสีผูกอยู่ที่ข้อเท้า
เป็นเวลาหลายปีที่การมัดเท้าเป็นสัญลักษณ์ความงาม ความนุ่มนวล ตลอดจนการแบ่งแยกชนชั้น และต่อมายังเป็นสัญลักษณ์ความงามสากล โดยนักเขียนและบทกวีที่ชื่อว่า “ดอกบัวทองคำ” จากนั้นก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางเพศของสตรี
ในที่สุด การมัดเท้าก็กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับหญิงชาวจีน หากหญิงรายใดไม่ถูกมัดเท้าก็จะไม่มีใครแต่งงานด้วย และบรรดาหญิงสาวก็จะไม่ยอมเปิดเท้าที่ถูกมัดให้ชายใดเห็น นอกจากสามีหรือชู้รัก
โดยปกติแล้ว เด็กผู้หญิงเจ็บปวดจากการถูกมัดเท้า โดยผู้ที่ช่วยมัดเท้าให้เด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นมารดา หรือไม่ก็ญาติผู้หญิง เท้าที่ถูกบิดให้โค้งงอถูกพันไว้แน่นด้วยแถบผ้าเพื่อคงรูปอย่างอย่างนั้นไปตลอดชีวิต หากผิวหนังบริเวณนั้นเกิดเน่าส่งกลิ่นเหม็น ก็จะถูกโรยด้วยแป้งระงับกลิ่น
คนสมัยนั้นมองการมัดเท้าเป็นสิ่งยั่วยวนอารมณ์ทางเพศ และเป็นที่รู้กันว่าบรรดาผู้ชายได้กินถั่วบดหรือจิบสุราจากปลายเท้ารูปร่างพิกลพิการนี้ และยังกล่าวกันว่าเพียงมองเท้าที่ถูกมัดของเหล่าสตรีก็ช่วยกระตุ้นราคะของเหล่าบุรุษขึ้น
“สตรีสูงศักดิ์ยิ่งถูกมัดเท้าให้เล็ก พ่อสื่อแม่สื่อมักถามคำแรกคือเท้าของเจ้าสาวมีขนาดเท่าไหร่” นายแพทย์โก๊ะให้ข้อมูล
ขณะที่การมัดเท้าทำให้การเดินของผู้หญิงผิดธรรมชาติ เพราะต้องเดินโซเซเพื่อรักษาการทรงตัว แต่นายแพทย์โก๊ะกลับมองว่าท่าเดินเช่นนั้นทำให้ผู้หญิงดูน่าสนใจและเซ็กซี่ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เขายังได้เปรียบเทียบว่า การมัดเท้าของหญิงชาวจีนก็เหมือนการใส่ชุดชั้นในคับติ้วเพื่อให้สะโพกและหน้าอกเข้ารูปทรงของหญิงสาวตะวันตกที่นิยมกันในศตวรรษที่ 18
เพียงแต่เขาลืมไปว่า สาวชาวตะวันตกนั้นเลือกใส่ชุดชั้นในรัดติ้วเมื่อโตเป็นสาวแรกรุ่นแล้ว ขณะที่สาวชาวจีนนั้นถูกทำลายเท้ามาตั้งแต่พวกเธอยังเป็นเด็ก