เอเจนซี่ – ภาพถ่ายชิ้นใหม่จากห้วงอวกาศ เผยให้เห็นบริเวณภูมิประเทศ ที่ถูกน้ำไหลบ่าเข้าท่วม จากการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก เขื่อนยักษ์ใหญ่แดนมังกร ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่จบสิ้น
เขื่อนสามโตรกเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อสร้างเสร็จในปี 2549 เพื่อส่งน้ำป้อนโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีขนาดมหึมาที่สุดบนแผ่นพิภพเช่นเดียวกัน
เขื่อนแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าปริมาณมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และชุมชนท้องถิ่นก็ได้รับความเดือดร้อนเหลือคณานับจากมัน
เขื่อนสามโตรกมีโครงสร้างยาว 2.3 กิโลเมตร การก่อสร้างทำให้ประชาชน 1 ล้าน 2 แสนคน ต้องโยกย้ายถิ่นอาศัย โดยบริเวณอ่างรองรับน้ำครอบคลุมพื้นที่ถึง 13 เมือง และกว่า 1,300 หมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งโบราณคดีอีกจำนวนหนึ่ง
ภาพชิ้นนี้เป็นฝีมือการถ่ายของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยคุณจะเห็นพื้นที่ ซึ่งถูกกำหนดให้น้ำเข้าท่วม แผ่ยาวเฟื้อยตรงด้านหลังเขื่อน
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ้างว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนสามโตรกมีความซับซ้อน และเขื่อนได้ทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป
นักวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า แม้เขื่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ราบลุ่มปลายน้ำ แต่มันก็ก่อความเสี่ยงใหม่ ๆ โดยการสะสมของมวลน้ำอาจทำให้เกิดความเสี่ยงแผ่นดินถล่มมากขึ้น ตลอดจนเชื้อโรค ที่มากับน้ำ หรือแม้กระทั่งการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว