xs
xsm
sm
md
lg

เจียง … ลูกสุดที่รักของแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ติง จื้อหลิน แม่ของเจียง เจี๋ยหลิน ผู้ร่วมชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ20ปีก่อน, 7 เม.ย.2552
เอเอฟพี – แม้เหตุการณ์ทมิฬ ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินล่วงเลยมานานถึง 20 ปีแล้ว ทว่ามีแม่คนหนึ่ง ที่ยังคงจมอยู่ในห้วงทุกข์ เพราะเฝ้าแต่คิดถึงลูกชาย

ทุกวันนี้ ติง จื้อหลิน หญิงชรา วัย 72 ปี บาดแผลในใจของนางยังสด เหมือนเมื่อตอนที่ลูกชายคนเดียวถูกกระสุนยิงทะลุหัวใจ ขณะกองทัพเข้าบดขยี้ผู้ชุมนุมประท้วงกลางจัตุรัสเลือดแห่งนั้น

ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตลอด 7 สัปดาห์ ที่กรุงปักกิ่งเมื่อฤดูใบไม้ผลิในปี 2532 เจียง เจี๋ยหลิน หนุ่มน้อย วัย 17 ปี เป็นผู้หนึ่ง ที่เข้าร่วมอย่างสุดตัว

จนกระทั่งตกเย็นของวันที่ 3 มิถุนายน นางติงสั่งห้ามลูกชายออกจากบ้านอย่างเด็ดขาด แต่เจียงก็แอบหนีไปจนได้

กลางดึกคืนนั้นเอง ขบวนรถถังก็เคลื่อนดาหน้าเข้าไปยังจตุรัสมรณะ และถนนบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่งหฤโหดของรัฐบาลจีน ที่ให้ทหารสลายการชุมนุม

พอรุ่งเช้าผู้ชุมนุมหลายร้อยคน หรืออาจมากถึงหลายพันคนกลายเป็นศพนอนตายเกลื่อน หนุ่มน้อยเจียงนอนตายถมทับร่างอยู่ที่นั่นด้วย

หญิงชราร่างเล็ก ท่าทางอ่อนแอ นั่งอยู่ในแฟลตอาศัย อันทันสมัยในกรุงปักกิ่ง และเริ่มร้องไห้ ขณะเล่าถึงความทรมาน ที่ยังแผดเผาหัวใจ

“ห้องข้างบนนั่น ผู้หญิงคนหนึ่งเพิ่งคลอดลูก เป็นเด็กผู้ชาย ทุกวันที่เดินผ่านไป ฉันจะคิดถึงลูกชาย คิดถึงตอนที่เขายังเล็ก ๆ” นางติงเล่าทั้งน้ำตาอาบแก้ม

“ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ก็อายุ 37 แล้ว แต่งงาน มีครอบครัว ทุก ๆ วัน ฉันมีชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แล้วจะให้ฉันลืมเขาได้ยังไงกัน?”

นางติงเคยเป็นอาจารย์ สอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยประชาชนปักกิ่ง แต่ถูกบีบให้ปลดเกษียณก่อนกำหนด หลังจากให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลแจ้งยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม

เมื่อปราศจากลูกชาย นางเคยพยายามฆ่าตัวตายถึง 6 ครั้ง !

จนกระทั่งผ่านไปสองเดือน จิตใจ ที่ว้าวุ่น จึงสงบลงได้บ้าง เมื่อพบว่ายังมีสตรีอีกหลายคน ที่ต้องสูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์มหาวิปโยค

นางติงได้กลายเป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหว ซึ่งชื่อว่า แม่แห่งเทียนอันเหมิน ประกอบด้วยสมาชิก 128 คน เรียกร้องให้รัฐบาลออกมายอมรับผิด และหาตัวผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุม โดยทางกลุ่มได้ยื่นจดหมายร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนในการประชุมประจำปีมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือความเงียบ !

ส่วนรางวัลสำหรับการรณรงค์อย่างกัดไม่ปล่อยของนางติงก็คือการถูกควบคุมตัว หรือกักบริเวณภายในบ้านอยู่หลายครั้ง แม้กระทั่งแขก ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมที่แฟลต ซึ่งรวมทั้งนักข่าวต่างชาติเอง ยังต้องลงทะเบียนชื่อที่ประตูใหญ่

รัฐบาลจีนตราหน้าการชุมนุมในปี2532 ว่า เป็น “การจลาจลต่อต้านการปฏิวัติ” พร้อมกับจับผู้ต้องสงสัยหลายร้อยคน ขังคุก โดยไม่เคยให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนเลย

นางติงจึงต้องลงมือสืบสวนด้วยตัวเอง กระทั่งสามารถยืนยันรายชื่อเหยื่อที่เสียชีวิตได้ถึง 195 คน ซึ่งเริ่มต้นจากลูกชายของนางเอง

“ คุณรู้ไหม พ่อแม่คนอื่น ๆ เค้าอิจฉาฉัน เพราะฉันรู้เวลา และสถานที่ที่ลูกชายของตัวเองโดนฆ่าได้อย่างถูกต้องทีเดียว … 5 ทุ่ม วันที่ 3 มิถุนายน” นางกล่าว
มุมห้องรับแขกภายในแฟลต ซึ่งมีโต๊ะบูชาดวงวิญญาณของเจียง
จากนั้น ลุกขึ้นไปดูสามี ที่เพิ่งล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ เสร็จแล้วจึงเดินไปยังมุมห้องรับแขก ซึ่งวางโถบรรจุอัฐิของเจียง

นางชี้ให้ดูรูปภาพ ที่เจียงถ่ายไว้เป็นครั้งสุดท้าย … เด็กหนุ่ม ร่างสูง หน้าตาดี

เขาคาดผ้าสีแดงที่ศีรษะ ขณะกำลังเดินขบวนประท้วงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2532

“ พวกเขาจะล่วงรู้ได้ยังไงล่ะว่า อีกครึ่งเดือน จะต้องเจอกับโชคร้ายถึงตาย?” นางติงเล่า แล้วต้องหยุดนิ่งอยู่สักครู่ เพราะเกิดอาการเวียนศีรษะขึ้นจากความดันโลหิตสูง

“ ฉันไปหอพักนักศึกษา ที่ฉันสอนทุกวัน บอกพวกเด็ก ๆ ไม่ให้ไป บอกว่า ผลที่ได้รับจะไม่ดี เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จะตอบโต้กลับ”

“ฉันไม่ยอมให้ลูกชายไปด้วยเช่นกัน แต่พ่อของเขา… กลับสนับสนุน”

สำหรับแม่คนหนึ่ง ที่โศกเศร้าแสนสาหัส และแก่เกินกว่าจะคิดให้กำเนิดลูกอีกคน ชีวิตทุกวันนี้ จึงเฝ้าวนเวียนอยู่แต่การแสวงหาความยุติธรรม

“ในตอนกลางวัน ชีวิตฉันก็คือวันที่ 4 มิถุนายน วันที่ 4 มิถุนายน วันที่ 4 มิถุนายน ยกเว้นเวลาที่ต้องดูแลครอบครัว ซื้ออาหาร ทำกับข้าว นอกนั้นล้วนมีแต่เรื่องเกี่ยวกับวันที่ 4 มิถุนายน พอตกกลางคืน ก็จะนอนฝันอยู่ร่ำไป”

“ฉันไม่คิดหรอกว่า ในชีวิตนี้จะได้เห็นความยุติธรรม และไม่คิดด้วยว่า เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายนจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมในอนาคตอันใกล้”

“แต่ฉันจะไม่มีวันยอมเลิกรา ฉันจะไม่ยอมแพ้” แม่ผู้สูญเสียลูกชายคนเดียวเล่าเป็นประโยคสุดท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น