หลังจากลุ้นกันมานาน ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 10.39 น.ของวันพุธที่ผ่านมา (27 พ.ค.) “หลินฮุ่ย” แพนด้าเพศเมีย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ตามโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ก็ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าน่ารักน่าชังออกมา 1 ตัว สร้างความปีติยินดีแก่ชาวไทยกันถ้วนหน้า
หลายคนสงสัยว่า แพนด้าหลินฮุ่ยเพิ่งผสมเทียมได้เพียง 3 เดือนก็ตกลูกเสียแล้วหรือ ซึ่งตามธรรมชาติของแพนด้าแล้ว แม่แพนด้าจะตั้งท้องประมาณ 3-5 เดือน เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ มันก็จะหาทำเลดีๆ เช่น โพรงไม้หรือถ้ำในการคลอดลูก เอาใบไผ่มาปูเป็นเตียงนอนเตรียมพร้อมสำหรับการเบ่งลูก ลูกแพนด้าเมื่อออกจากท้องแม่ดูน่าสงสารมาก ตัวเล็กกระจิดสีแดงๆ ไม่มีขน ตาปิด และยังยืนไม่ได้ น้ำหนักประมาณ 100 กรัม ขนาดตัวแค่ 1 ใน 1,000 ของแม่เท่านั้น
ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด หากไม่นับรวมมนุษย์ มีแพนด้ากับจิงโจ้ที่คลอดลูกวัยแรกเกิดที่มีขนาดเล็กมากเช่นนี้ แต่ลูกจิงโจ้ยังโชคดี ที่แม่จิงโจ้มีกระเป๋าหน้าท้องไว้ปกป้องอันตรายให้แก่ลูกได้ แต่แม่แพนด้ายักษ์ไม่มีเกราะคุ้มครองลูกน้อยใดใดเลย ฉะนั้นการจะเลี้ยงดูลูกแพนด้าให้เติบใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากลำบากมาก
แม่แพนด้าอาศัยอาหารที่กินสะสมช่วงตั้งท้องดูแลลูกน้อย จนหนึ่งเดือนผ่านไปจึงจะออกจากห้องคลอดไปหาอาหารกินได้ เมื่อออกไปหากินแล้วก็ต้องรีบกลับมาดูลูก จนลูกน้อยค่อยๆเติบโตและรอดพ้นวัยอ่อนมาได้
เมื่อขนแพนด้าน้อยเริ่มขึ้นเห็นเป็นสีขาว-ดำ เมื่ออายุได้ 1 เดือน น้ำหนักตัวประมาณ 1 กิโลกรัม แต่ยังเดินไม่ได้ และตาก็ยังไม่กล้าสู้แสง จนกระทั่ง 3 เดือน จึงเริ่มหัดเดิน การมองเห็นเริ่มพัฒนาขึ้น
พอผ่านไปครึ่งปี น้ำหนักขึ้นเป็น 13 กิโลกรัม ก็สามารถออกไปเรียนรู้วิธีกินใบไผ่กับแม่ได้แล้ว แต่ยังต้องกินนมเสริมพลังงานด้วย ขณะเดียวกันก็เริ่มเรียนรู้สัญชาตญาณของสัตว์ป่า อายุขวบครึ่ง หนูน้อยแพนด้าน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ก็สิ้นสุดช่วงวัยเด็กที่ต้องพึ่งพาแม่ หลังจากนั้นก็จะปลีกตัวใช้ชีวิตสันโดษต่อไป
ปกติแพนด้ามีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี แพนด้าวัยเจริญพันธุ์อายุราว 5-7 ปี ตั้งท้องได้ 3-4 ครั้ง ตกลูกครั้งละ 1 ตัว บางทีเป็นฝาแฝด แต่อย่างไรก็ตามแม่แพนด้าก็สามารถเลี้ยงลูกได้ครั้งละตัวเดียว เนื่องจากความอ่อนแอของลูกหมีแรกเกิด และความยากลำบากในการเลี้ยงดูดังที่กล่าวข้างต้น
ปัจจุบันมีแพนด้าเหลืออยู่เพียง 1,600 ตัวเท่านั้นในประเทศจีน ส่วนใหญ่อาศัยในแถบภาคตะวันตกเฉียงใต้ และอีกราว 200 ตัวเลี้ยงอยู่ที่ศูนย์เพาะพันธุ์แพนด้าหลายแห่งของประเทศ สาเหตุที่ทำให้แพนด้ามีเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ก็เนื่องมาจากความเย็นชาราวกับฤาษีของแพนด้า ซึ่งเป็นเรื่องกระฉ่อนไปทั่ว จนทำให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ต้องงัดกลวิธีต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้แพนด้าผสมพันธุ์ เช่น ฉายวิดีโอการผสมพันธุ์ของแพนด้าคู่อื่นให้ดู หรือให้หมีแพนด้าเพศผู้ฝึกความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อขาและกระดูกเชิงกรานเพื่อประสิทธิภาพในการผสมพันธุ์ เป็นต้น
ข้อมูลเกี่ยวข้อง
แพนด้าจาก ‘หมีแมว’ มาเป็น ‘แมวหมี’
ภารกิจใหญ่ของแพนด้าแดนมังกร
ชมรมแพนด้า