xs
xsm
sm
md
lg

หมอเวิลด์แบงก์เขียนใบสั่งยา รักษาโรคความจนพญามังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานชาวจีนพักกินมื้อเที่ยงด้านนอกหอพักแห่งหนึ่งที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ของจีนเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2552 ส่วนมากแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน ล้วนเป็นประชาชนที่จากบ้านเกิดมาเพื่อแสวงโชคในเมืองใหญ่ - ภาพ รอยเตอร์
เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล - รายงานล่าสุดของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์เตือน แม้เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งของจีนสามารถฉุดประชาชนราวครึ่งพันล้านคนพ้นจากความยากจน แต่ลำพังประคองให้จีดีพีโตเพียงอย่างเดียว ไม่อาจกำจัดความยากจนในประเทศได้

นอกจากคำเตือนดังกล่าวแล้ว ในรายงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (8 เม.ย.) เวิลด์แบงก์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเร่งสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้แข็งแกร่ง ตลอดจนขยายระบบการรักษาพยาบาลและการศึกษาให้ถึงมือประชาชนมากขึ้น จึงจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง

ปัญหาของคนยากจนมากมายบนแดนมังกรมิได้อยู่ที่ว่า เศรษฐกิจโตไม่เร็วพอ แต่อยู่ที่พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างหาก นาย ชูพัม เชาดูรี นักเศรษฐศาสตร์เวิลด์แบงก์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเขียนรายงานระบุ

ดังนั้น ปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาลจีนก็คือการหาหนทาง เพื่อให้ประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับล่างสุดได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจ ที่มีกำลังขับเคลื่อน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับแผนปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพประชาชนแห่งชาติ หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าประกาศขยายการให้เงินช่วยเหลือแก่คนยากจนกว่า 40 ล้านคน ซึ่งนายเวินถือว่าเป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นการลดปัญหาความยากจนครั้งใหม่ในจีน

นายเวินยังระบุว่า จีนจะกำหนดรายได้ขั้นต่ำในการยังชีพของประชาชนใหม่ในปีนี้ อันเป็นการยอมรับเสียงวิจารณ์จากนักวิชาการ ที่มีมานานว่า การกำหนดรายได้ขั้นต่ำของทางการจีนขัดกับสภาพความเป็นจริง

มูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาของจีนในกรุงปักกิ่งประมาณการณ์รายได้ขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับจีนในปี 2548 ว่าควรอยู่ที่ 1,147 หยวน ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 68 ของรายได้ขั้นต่ำ 683 หยวนตามที่ทางการกำหนด

รายงานของเวิลด์แบงก์แนะนำให้จีนปรับเพิ่มการกำหนดรายได้ขั้นต่ำ โดยจีนเป็นชาติหนึ่งในหมู่ชาติกำลังพัฒนา ที่มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำในระดับต่ำที่สุด ซึ่งน้อยกว่าอัตรารายได้ขั้นต่ำวันละ 1.25 ดอลลาร์ตามมาตรฐานสากล ที่เวิลด์แบงก์กำหนด

เวิลด์แบงก์ยอมรับว่า การแก้ปัญหาความยากจนในจีนเป็นสิ่งน่าประทับใจ โดยนับตั้งแต่ปี 2524-2547 มีชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจนถึงราว 500 ล้านคน ในขณะที่สามารถกำจัดความยากจนข้นแค้นอย่างที่สุด ซึ่งผู้คนไม่มีอาหารและเสื้อผ้าอย่างเพียงพอ ได้จนเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความยากจนของจีนสะดุดอยู่ 2 ช่วง คือในช่วงปี2533-2536 และช่วง 2542-2546 ซึ่งประชาชนในพื้นที่ยากจนที่สุดมีรายได้ลดลง สะท้อนว่าผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากวงจรเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกษตรกรรมของรัฐบาล

ท้ายที่สุด รายงานย้ำว่า หากรัฐบาลจีนต้องการสร้างความคืบหน้าในการลดความยากจน ก็จำเป็นจะต้องกำหนดนโยบาย ที่มุ่งกระตุ้นรายได้ของภาคครัวเรือนโดยตรงเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น