xs
xsm
sm
md
lg

จีนเตรียมอุ้มธุรกิจต่อเรือของรัฐ ให้บ.ชิปปิ้งช็อปเรือสินค้ามากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานของบริษัทต่อเรือซันไห่กวน ในเมืองซันไห่กวน มณฑลเหอเป่ย
เอเจนซี – จีนวางแผนอุ้มธุรกิจต่อเรือของรัฐ ด้วยการบังคับให้บริษัทชิปปิ้งในประเทศซื้อเรือจากรัฐวิสาหกิจมากขึ้น หลังธุรกิจต่อเรือทำท่าจะจอดเพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนถึง 3 หมื่นล้านดอลล่าร์ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน ไชน่า เดลี่ ได้รายงานโดยอ้างนายหลี่ ลี่ รองผู้จัดการแผนกเงินช่วยเหลือธุรกิจเรือ เอ็กซิมแบงก์ (Export-Import Bank) ของจีน และยังระบุด้วยว่า เอ็กซิมแบงก์ได้ทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น (credit lines) กับรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจต่อเรือของจีน โดยปล่อยกู้ให้ China State Shipbuilding Corp จำนวน 1 แสนล้านหยวน (ราว 4.6 แสนล้านบาท) และ China Shipbuilding Industry Corp อีกจำนวน 6 หมื่นล้านหยวน (ราว 276,000 ล้านบาท)

หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ยังรายงานว่า รัฐบาลจีนเห็นว่าสถาบันการเงินและอู่ต่อเรือควรร่วมกันก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเรือขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลจากบริษัทคลาคซัน ซึ่งเป็นโบรเกอร์เรือรายใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า การล่มสลายของธุรกิจชิปปิ้ง ได้ทำให้ยอดการสั่งซื้อเรือเดินสมุทรในเดือนมีนาคมจากทั่วทั้งโลกลดลงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมีแผนที่จะช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจในธุรกิจต่อเรือทั้ง 2 แห่ง และยังจะบังคับให้บริษัทชิปปิ้งในประเทศซื้อเรือเดินสมุทรที่ค้างอยู่เนื่องจากบริษัทในต่างประเทศยกเลิกออร์เดอร์

“สิ่งที่คุกคามธุรกิจต่อเรือของจีนอยู่ในขณะนี้ก็คือการยกเลิกออร์เดอร์ ดังนั้น แผนการของรัฐบาลจึงสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องเรือที่คงค้างอยู่ในบริษัทต่อเรือรัฐวิสาหกิจ” นายแอนดี้ เหม็ง นักวิเคราะห์จากบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุ

ด้าน นายจอร์จ หยู โฆษกของบริษัทซิโนทรานส์ ชิปปิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยขนส่งสินค้าของไชน่า เนชั่นแนล กล่าวว่า ในปีนี้และปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะใช้เงิน 374.5 ล้านดอลล่าร์เพื่อซื้อเรือลำใหม่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับราคาและเงื่อนไขทางการตลาด

ขณะที่ เหยา เฉี่ยวหง โฆษกของ ไชน่า ชิปปิ้ง ดิเวลอปเม้นท์ โค บริษัทขนส่งเหล็กที่แตกมาจากไชน่า ชิปปิ้ง กล่าวว่า ทางบริษัทยังไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการของรัฐบาลจีน

ช่วงที่ผ่านมา อัตราค่าบรรทุกเหล็กได้ลดลงเนื่องจากจีนลดการนำเข้าสินแร่เหล็กที่นำมาผลิตเป็นเหล็กกล้า อันเนื่องมาจากการก่อสร้างในจีนชะลอตัวลง ทำให้บริษัทขนส่งเหล็กไม่อาจทำกำไรได้ และค่าระวางเรือซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานของการขนส่งสินค้าก็ได้ปรับลดลง จนทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจนี้ต้องขาดทุน

นายรอน วิดโดว์ส ผู้บริหารบริษัทเนปจูน โอเรียนท์ ไลนส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า การที่เรือขนส่ง ที่เคยขนส่งสินค้าตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ มีมากเกินความต้องการของตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องตกอยู่ในฐานะลำบากกว่าผู้ประกอบการเรือบรรทุกเหล็ก และการที่ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้ายกเลิกออร์เดอร์เรือลำใหม่ไม่ทัน ทำให้ต้องประสบภาวะวิกฤตนานกว่าผู้ประกอบการเรือบรรทุกเหล็กที่ตัดสินใจยกเลิกออร์เดอร์ได้ทัน

ข้อมูลจากบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า บริษัทต่อเรือรายใหญ่ที่สุดของจีนไม่มีออร์เดอร์เข้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ดังนั้น แผนกระตุ้นธุรกิจต่อเรือของรัฐบาลจีน อาจทำให้ภาวะการผลิตที่ล้นตลาดเลวร้ายยิ่งขึ้น

ด้านบริษัทไชน่า คอสโค โฮลดิ้ง ผู้ประกอบการเรือสินค้าขนาดใหญ่รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ยกเลิกแผนการสั่งซื้อเรือจำนวน 126 ลำไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าอัตราค่าบรรทุกลดลง ขณะเดียวกัน นายหู อี้ว์ โฆษกของบริษัท กล่าวว่า เขาไม่รู้เรื่องแผนการที่รัฐบาลจะให้ซื้อเรือมากขึ้น และว่า ขณะนี้บริษัทมีเรือเคลื่อนที่เร็วอยู่ 462 ลำ และได้ทำสัญญาเช่าเรือบรรทุกเหล็กไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา และยังมีเรือที่กำลังสั่งต่ออีก 62 ลำ

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต่อเรือควรช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการลดราคาลง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจชิปปิ้งมีเรือที่ทันสมัยขึ้นในราคาที่ต่ำลง

“หากธุรกิจชิปปิ้งปลดระวางเรือสินค้าเร็วขึ้น และซื้อเรือที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาทดแทนในราคาที่ต่ำลง ก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้มีการพัฒนาในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนจำนวนเท่าใด” นั่นเป็นความเห็นจาก นายแจ๊ค ซู นักวิเคราะห์จาก ซิโนแพค ซิเคียวริตี้ เอเชีย ที่ตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้
กำลังโหลดความคิดเห็น