xs
xsm
sm
md
lg

SMEs จีนโดนลอยแพ รัฐเน้นอุ้มรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายจีนวัยสูงอายุกำลังนั่งพักตรงข้างทางซึ่งมีป้ายโฆษณาอสังหาริมทรัพย์สุดหรูที่วางแผนจะสร้างขึ้นกลางกรุงปักกิ่ง โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนประกาศว่าจะสนับสนุนเงินให้กับภาคส่วนนี้หากจำเป็น ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังเฝ้ารอความแผนช่วยเหลือจากทางการ - ภาพ เอเอฟพี
เอเอฟพี – คงไม่มีใครกล่าวโทษรัฐบาลจีนที่มานำการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งที่ทางการจีนเคยประกาศไว้ว่าจะเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจให้น้อยลง ขณะที่ นักสังเกตการณ์ทางเศรษฐกิจเกรงว่า รัฐบาลจะเข้าไปจัดการเฉพาะปัญหาของธนาคารและอุตสาหกรรมที่มีทุนหนา แต่จะลอยแพธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ

“การที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมุ่งให้ประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความกังวลว่า บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร” นายลูอิส คูจส์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลกในกรุงปักกิ่ง ระบุ

โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลก็คือ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (small and medium size enterprises - SMEs) ที่ถูกบีบคั้นจากผู้ปล่อยเงินกู้ทั้งหลาย ขณะที่ความสนใจทั้งหมดพุ่งตรงไปที่วิสาหกิจของรัฐ (state-owned enterprises – SOEs)

“ถ้าปริมาณเงินกู้ทั้งหมดไหลไปสู่ SOEs ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจเป็นผลดีต่อการค้ำจุนเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะจะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่มันจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว เนื่องจากนวัตกรรมใหม่และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ล้วนแต่ถูกขับเคลื่อนโดย SMEs” นั่นเป็นความเห็นจาก นายอลาสแตร์ แคมป์เบล รองประธานบริษัทที่ปรึกษา APCO Worldwide ที่อยู่ในกรุงปักกิ่ง

ถึงแม้ว่า นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน ได้ยอมรับในการแถลงข่าวประจำปีเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) ว่า กลุ่ม SMEs เป็นแหล่งสร้างงานถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่บรรดาเจ้าของ SMEs ต่างกำลังดิ้นรนเพื่อขอกู้จากสถาบันการเงินท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจ

ช่วงที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พยายามระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ เท่าที่หาได้ เพื่อทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ (ก่อนหน้านี้จีนตั้งเป้าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 8 เปอร์เซ็นต์) โดยระดมเงินกู้จากธนาคารของรัฐจำนวน 2 ล้านล้านหยวน (ราว 9.6 ล้านล้านบาท) โดยเงินกู้ที่ปล่อยไปในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ามากกว่าครึ่งของจำนวนเงินที่ตั้งใจปล่อยกู้ตลอดทั้งปี

เงินกู้ส่วนใหญ่จะถูกปล่อยให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมภาคการผลิตที่ใช้เงินทุนขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเลียม เหล็กกล้า และธุรกิจการบิน
โดยนายแอนดี้ โรธแมน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทโบรคเกอร์ CLSA ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “การเมืองแบบพรรคเดียวนี้ พรรคจะเป็นผู้ควบคุมการเงินในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ธนาคารของรัฐ และรัฐวิสหากิจ”

ข้อกังวลในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้นในการส่งเสริมธุรกิจที่เน้นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิสาหกิจของรัฐ ตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลจีนได้เลื่อนออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3G ให้แก่บริษัทจากตะวันตก จนกว่าบริษัทภายในประเทศจะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจได้

“ในทุกๆ อุตสาหกรรม รัฐบาลจีนจะเน้นให้บริษัทสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิทางปัญญาจากต่างประเทศ ซึ่งในมุมมองของจีนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ขณะที่ผู้ค้าจากตะวันตกมองว่าเป็นอุปสรรค เพราะเป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม” นายแคมป์เบล ระบุ

แม้ว่าจีนไม่มีการผูกขาดเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เหมือนอย่างที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอยู่ในนโยบาย “ซื้อสินค้าอเมริกัน” แต่รัฐบาลจีนก็พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปทีละขั้น ในขณะที่สหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป ใช้เงินจำนวนมากไปอุ้มอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลจีนก็หันไปอุ้มสายการบินแห่งชาติ 2 สาย และยังจ่ายคืนเงินภาษีให้แก่ผู้ส่งออก แต่จีนไม่ได้สร้างอุปสรรคในการนำเข้าเหมือนเช่นที่ อินเดีย รัสเซีย และอีกหลายๆ ประเทศกำลังดำเนินการอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น