เอเอฟพี – กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) จีนปฏิเสธแผนบริษัทโคคา-โคล่า ยักษ์ใหญ่น้ำดำจากสหรัฐฯ เสนอซื้อกิจการของบริษัทน้ำผลไม้ฮุ่ยหยวน ระบุจะทำลายระบบการแข่งขันภายในประเทศ
กระทรวงพาณิชย์กล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่บริษัทโคคา-โคล่า เสนอซื้อบริษัทน้ำผลไม้ฮุ่ยหยวน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 17,920 ล้านเหรียญฮ่องกง (2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งนับว่าเป็นการซื้อกิจการในจีนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทต่างชาติ โดยระบุว่า การซื้อกิจการครั้งนี้จะนำมาซึ่ง “ผลกระทบเชิงลบต่อการแข่งขัน” ในประเทศจีน
“ผู้บริโภคจะต้องถูกบีบให้ซื้อสินค้าราคาสูงขึ้น และมีสินค้าให้เลือกน้อยลง” กระทรวงพาณิชย์กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทน้ำผลไม้ ไชน่า ฮุ่ยหยวน เป็นเจ้าของแบรนด์น้ำผลไม้ที่เป็นที่รู้จักที่สุดของจีน และมีส่วนแบ่งในตลาดน้ำผลไม้จีนมากถึง 40%
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว บริษัทโคคา-โคล่า ยักษ์ใหญ่น้ำอัดลมได้ประกาศแผนการเทคโอเวอร์บริษัทฮุ่ยหยวน ด้วยเล็งเห็นว่าความต้องการน้ำผลไม้จะมีอนาคตสดใส เนื่องจากชาวจีนมีรายได้มากขึ้น และสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ข้อตกลงข้างต้นถูกนำไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นของบริษัททั้งสองรวมกันแล้วมากกว่า 10,000 ล้านหยวน (1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ขณะเดียวกัน ข้อตกลงควบรวมกิจการนี้ก็ถือเป็นบททดสอบแรกสำหรับกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน ซึ่งมุ่งเน้นเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสกัดบริษัทต่างชาติเข้ามาเจาะภาคสำคัญของประเทศ และมีผลบังคับใช้ไปก่อนการเสนอซื้อกิจการเพียง 1 เดือนเท่านั้น
“อุตสาหกรรมน้ำผลไม้ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่อ่อนไหวสำหรับรัฐบาลจีน แต่จีนยังไม่ต้องการให้บริษัทต่างชาติมาถือครองแบรนด์ของจีนด้วย” รีนี่ ไต้ นักวิเคราะห์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจากบริษัทหลักทรัพย์ CIMB-GK ของฮ่องกงกล่าว
หลังจากข่าวข้างต้นถูกรายงานออกไป หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงของไชน่า ฮุ่ยหยวน ก็ร่วงลงมา 19% ก่อนที่จะมีการหยุดซื้อขาย ซึ่ง รีนี่ ไต้ ก็มองว่าหุ้นของฮุ่ยหยวนจะร่วงลงอีกหลังจากเปิดให้เทรดอีกครั้ง
ขณะที่คู่แข่งของฮุ่ยหยวน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการเทคโอเวอร์ของโคคา-โคล่า โดยให้เหตุผลว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะบีบให้พวกเขาออกจากธุรกิจ เนื่องจากโคคา-โคล่าจะควบคุมส่วนแบ่งใหญ่ในเครือข่ายกระจายสินค้า
ด้านสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ระบุว่า ความล้มเหลวในการซื้อกิจการบริษัทจีนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทต่างชาติที่กำลังพยายามเข้ามาซื้อกิจการในจีนเกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ โดยที่ผ่านมาผู้คุมกฏจีนยังลังเลที่จะอนุมัติข้อเสนอซื้อกิจการจากบริษัทต่างชาติหลายราย และจะใช้วิธียืดการพิจารณาออกไป เพื่อหยุดยั้งดีลโดยไม่ปฏิเสธพวกเขาอย่างเป็นทางการ