xs
xsm
sm
md
lg

จีนป้องภาคส่งออก โบ้ยชาติคู่ค้าแก้ปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์ขับผ่านโรงงานไฟฟ้าในกรุงปักกิ่ง ขณะที่หอหลอมเย็น( water cooling tower) ปล่อยไอน้ำออกมาสู่บรรยากาศ - ภาพ เอเอฟพี
เอเอฟพี – จีนขอไม่รวมภาคธุรกิจส่งออกไว้ในสนธิสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฉบับใหม่ ระบุ เหตุที่จีนกลายเป็นประเทศปล่อยก๊าซพิษมากที่สุดเพราะเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก โบ้ยประเทศนำเข้าสินค้าจีนควรร่วมกันรับผิดชอบ

ทั้งนี้เป็นคำประกาศจาก นายหลี่ เกา ผู้อำนวยการฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของจีน ที่เดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐฯ โดยมี Pew Center on Global Climate Change เป็นผู้จัดการประชุมครั้งนี้

นายหลี่กล่าวอีกว่า จีนต้องการเป็น “สังคมที่มีก๊าซคาร์บอนต่ำ” แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อใดจะทำได้สำเร็จ และจีนก็ไม่ต้องการเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงฝ่ายเดียว เพราะการที่จีนต้องผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ และประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนก็ควรแบ่งปันความรับผิดชอบด้วย

“ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะจีน เราผลิตสินค้าเพื่อป้อนผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงไม่ยุติธรรมที่จะโยนความรับผิดชอบให้จีนทั้งหมด เพราะเราอยู่ปลายทางของห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก”

นายหลี่ยังระบุด้วยว่า หากสหรัฐฯ จะใช้กำแพงภาษีมากีดกันสินค้านำเข้าจากจีน หรือประเทศอื่นๆ ด้วยข้ออ้างว่าจีนไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ อาจส่งผลให้เกิดสงครามการค้าได้ และการเพิ่มกำแพงภาษียังถือเป็นการละเมิดกฎการค้าเสรีด้วย

จีนถือเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุด ท่ามกลางความพยายามของประเทศทั่วโลกในการสกัดกั้นภาวะโลกร้อน เนื่องจากจีนมีประชากรถึง 1.3 พันล้านคน และยังเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัจจุบันนี้ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนมีถึง 15-25 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศทั้งหมด และได้แซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดไปแล้ว

ขณะเดียวกัน นายเซี่ย เจิ้นฮว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของจีน ที่เดินทางไปสหรัฐฯ ด้วย ก็ได้เข้าพบกับ นายทอดด์ สเติร์น ผู้เจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนของสหรัฐฯ โดยนายสเติร์นได้กล่าวชื่นชมความพยายามของจีน แต่ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นจีนควรให้ความร่วมมือมากกว่านี้

ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ หลายคน ระบุว่า พวกเขาจะสนับสนุนข้อบังคับเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในสหรัฐฯ ก็ต่อเมื่อจีนต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน ขณะนี้สมาชิกบางคนที่มาจากพรรครีพับรีกันต่อต้านแนวคิดนี้ โดยบอกว่ามาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศกำลังจับตามองสหรัฐฯ จะมีมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างไร ก่อนที่การประชุมนานาชาติเพื่อหาข้อตกลงจะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้
ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเที่ยวริมชายหาดซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจีน - ภาพ เอเอฟพี
อียูข้องใจเรื่องให้ผู้นำเข้าร่วมรับผิดชอบ

นอกจากทีมเจรจาจากประเทศจีนแล้ว ยังมีตัวแทนจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่เดินทางไปสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เพื่อหากรอบความร่วมมือในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโคเปนฮาเก้น ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

คำกล่าวของนายหลี่ ที่ระบุให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนต้องจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้น ได้สร้างความกังขาให้แก่ผู้แทนจากชาติอื่น โดย นายอาร์เธอร์ รูนเก้-เมทซ์เกอร์ ผู้แทนเจรจาจากสหภาพยุโรป กล่าวว่า “หากจีนต้องการให้ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน เราก็อยากให้จีนใช้อำนาจทางกฎหมายควบคุมและจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในจีนเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าตัวแทนจากจีนจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้หรือไม่”

ขณะที่ นายชินซุเกะ ซูกิยาม่า หัวหน้าทีมเจรจาจากญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งโลกกำลังรอดูว่าสหรัฐฯ และจีนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในเรื่องนี้ “เราไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เกียวโตเกิดขึ้นอีก ในครั้งนั้นเราไม่สามารถทำให้ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ของโลก ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ และจีน มาร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโตได้”

อย่างไรก็ตาม นายหลี่ได้ตอบโต้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สมควรสร้างประวัติศาสตร์แห่งความรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน “ถ้าผมเป็นชาวญี่ปุ่น ผมจะภาคภูมิใจในพิธีสารเกียวโต แต่ดูเหมือนตัวแทนจากญี่ปุ่นจะไม่พอใจนัก”

เตือนอย่าประมาทภาวะโลกร้อน

การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ นอกจากนี้ การประชุมนานาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จัดขึ้นเมื่อปี 2550 ก็ได้พูดถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากเราปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.5 องศาฟาเรนไฮต์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้มาประชุมร่วมกันที่กรุงโคเปนฮาเก้น และได้กล่าวเตือนผู้นำทั่วโลกให้ตระหนักถึงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยรายงานการประชุมระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกมากมาย เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การเปลี่ยนแปลงในมหาสมุทร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

“มันมีนัยยะความเสี่ยงหลายตัวที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราไม่อาจทำให้กลับเป็นเหมือนเดิมได้”

ปฏิกิริยาต่อคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะทำตามคำแนะนำด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพอากาศ และจะเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ใช้ในสหรัฐฯ ให้เป็นพลังงานสะอาดขึ้น

ขณะที่ นายหลี่ เกา ตัวแทนจากจีน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปใช้พลังงานทดแทนอื่น ถือเป็นประโยชน์ต่อจีนในระยะยาว แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจีนจะทำเรื่องนี้สำเร็จเมื่อใด

“ผมคิดว่า ถ้าประเทศที่พัฒนาแล้วมีตัวอย่างให้เราดู ก็จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศเหล่านี้และปฏิบัติตามได้” นายหลี่ ระบุ

ขณะนี้ ประเทศจีนมีแผนลดการใช้พลังงาน และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 15 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ภายในปี 2563 นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังตั้งใจที่จะเพิ่มการใช้ก๊าซชีวมวลในเขตชนบท รวมถึงขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ และเพิ่มการวิจัยเรื่องพลังงานสะอาด

ทางด้านสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลของนายโอบามา ก็ได้ร่างแผนการคร่าวๆ เพื่อจัดการปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยวางแผนว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงทุกๆ ปี และจัดตั้งบริษัทขึ้นมารับซื้อ-ขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยทฤษฎีแล้ว บริษัทนี้จะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
กำลังโหลดความคิดเห็น