xs
xsm
sm
md
lg

จีนประมูลได้ “หัวนักษัตร” แต่ประกาศไม่จ่ายเงิน เบิร์กโต้ "ไม่จ่าย...ไม่ส่งมอบของ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หัวนักษัตรกระต่ายและหนู ที่ถูกนำมาประมูลในครั้งนี้ - เอเอฟพี
เอเอฟพี – ปล่อยให้กังขาอยู่พักหนึ่งว่าใครเป็นผู้ประมูลประติมากรรมสำริดหัวนักษัตรหนูและกระต่าย ที่ถูกปล้นชิงมาจากพระราชวังหยวนหมิงหยวนมาประมูลขายในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (2 มี.ค.) ไช่ หมิงเชา นักสะสมโบราณวัตถุชื่อดังของจีนได้ออกมาแถลงข่าวแล้วว่า เขาคือบุรุษนิรนามผู้นั้นเอง!
ไช่ หมิงเชา นักสะสมผู้ประมูลหัวนักษัตร - เอเอฟพี
กองทุนสมบัติชาติ ซึ่งเป็นกองทุนที่จีนจัดตั้งขึ้นเพื่อทวงคืนทรัพย์สมบัติของจีนที่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ เปิดเผยว่า ไช่ หมิงเชา นักสะสมชื่อดังเป็นผู้ประมูลประติมากรรมหัวนักษัตรหนูและกระต่ายในราคาหัวละ 15.7 ล้านเหรียญยูโร (20.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในงานประมูลของบริษัทคริสตี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยหัวนักษัตรหนูและกระต่ายนั้นถูกฝรั่งเศสและอังกฤษปล้นไปจากพระราชวังฤดูร้อน (หยวนหมิงหยวน) เมื่อครั้งลัทธิล่าอาณานิคมบุกกรุงปักกิ่งช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งหัวนักษัตรที่นำมาประมูลขายนี้เป็นของสะสมของอีฟ แซงต์ โลรอง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ผู้วายชนม์ไปแล้ว และปิแอร์ เบิร์ก หุ้นส่วนของเขา ซึ่งที่ผ่านมาทางการปักกิ่งก็พยายามต่อต้านการประมูลครั้งนี้ และแสดงเจตจำนงค์ต้องการให้สมบัติชาติคืนสู่จีน

ไช่เผยว่า “ผมเชื่อว่าในเวลาแบบนี้ไม่ว่าคนจีนคนไหนก็ต้องลุกขึ้นสู้...ผมกำลังทำตามหน้าที่ของตัวเอง แต่ผมต้องขอย้ำว่า เงินก้อนนี้ผมไม่สามารถจ่ายได้” ซึ่งในแถลงการณ์ของกองทุนฯ นั้นไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ไช่ไม่สามารถจ่ายได้ เพราะเขาไม่มีเงินจ่าย หรือเพราะเหตุผลอื่นกันแน่

ในแถลงการณ์เดียวกัน หนิว เสี้ยนเฟิง รองผู้อำนวยการกองทุนสมบัติชาติก็กล่าวชื่นชมนักสะสมคนนี้ด้วย

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างคำพูดของหนิวระบุว่า กองทุนฯ และไช่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะทำงานของกองทุนฯ ทำงานร่วมกันเพื่อขัดขวางการประมูล

“ทางกองทุนเผชิญกับแรงกดดันและความเสี่ยงอย่างมากในการประมูลวัตถุโบราณ 2 ชิ้นนี้ แต่นี่เป็นวิธีพิเศษที่นำมาใช้ในสถานการณ์ไม่ธรรมดา ซึ่งก็สามารถหยุดการประมูลครั้งนี้ได้สำเร็จ” ซินหัวรายงานอ้างคำพูดของหนิว

หนิวยังกล่าวว่า “ตอนนี้เรา...ยังอยู่ในระยะการชำระเงิน แต่ไม่รู้ว่าการตกลงซื้อขายครั้งนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่” โดยในเว็บไซต์ของบริษัทประมูลคริสตี้ระบุว่า ผู้ที่ได้ประมูลในรายการประมูลเมื่อวันพุธที่ 25 ก.พ.จะต้องชำระเงินภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ ไช่นอกจากเป็นนักสะสมของเก่าแล้ว เขาก็ยังเป็นเจ้าของบริษัทประมูลแห่งหนึ่งของจีน และเมื่อปี 2549 เขาก็เคยโด่งดังหลังจากเขาควักกระเป๋า 116 ล้านเหรียญฮ่องกงเพื่อซื้อรูปพระพุทธเจ้า ซึ่งวาดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง จากบริษัท Sotheby ในฮ่องกง

ด้านปิแอร์ เบิร์ก คู่หุ้นส่วนคอลเลคชั่นของสะสมร่วมกับโรลอง และเป็นผู้เก็บรักษาหัวนักษัตรหนู และกระต่ายไว้ ก็เชื่อว่าจีนพยายามทำลายการประมูล และบอกว่าเขาจะเก็บหัวนักษัตรทั้งสอง หากไช่ไม่ยอมจ่ายเงิน “ผมจะเก็บมันไว้ที่บ้าน ที่ที่มันเคยอยู่ และเราจะอยู่ด้วยกัน” เบิร์ก บอกกับวิทยุฝรั่งเศส

เบิร์ก จับมือกับ คริสตี้ นำหัวนักษัตรออกประมูล ขณะที่จีนคัดค้านพร้อมทวงสมบัติสองชิ้นนี้คืนมาตลอด  กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เบิร์กเสนอว่าจะคืนหัวนักษัตรให้จีน ก็ต่อเมื่อจีนรักษาสิทธิมนุษยชน ให้อิสระแก่ชนชาติทิเบต พร้อมทั้งให้การยอมรับทะไล ลามะ

ด้าน โฆษกหญิง ประจำสำนักประมูลคริสตี้ ออกมาแถลงหลังจากที่เกิดเหตุผู้ประมูลนิรนามชาวจีนออกมาเผยตัวและบอกว่าจะไม่จ่ายเงิน ว่าเป็นนโยบายของสำนักประมูลที่ไม่อาจให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับผู้ซื้อ

สำหรับหัวนักษัตรสำริด หัวหนู และกระต่าย เป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมสำริดหัวนักษัตรในจักรราศีของจีน 12 หัว เป็นประติมากรรมประดับนาฬิกาน้ำที่จักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง รับสั่งให้ช่างอิตาเลียนสร้างขึ้น เพื่อตกแต่งสวนพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่ง ที่ถูกกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส เผาราบระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง พร้อมทั้งขโมยสมบัติรวมทั้งหัวนักษัตรเหล่านี้ไปด้วย

ขณะนี้ หัวนักษัตรสำริด 5 หัว ได้ตกอยู่ในมือของจีน โดยโพลี กรุ๊ป (Poly Group ) ผู้ขายอาวุธรายใหญ่สุดของจีน ได้ซื้อหัวนักษัตร 4 หัว ในการประมูลเมื่อเร็วๆนี้ และมอบให้พิพิธภัณฑ์ปักกิ่งเป็นผู้เก็บรักษา

ส่วนหัวนักษัตรอีกหัวคือ หัวม้านั้น สแตนลีย์ โฮ มหาเศรษฐีกิจการบ่อนพนันในมาเก๊า ก็ได้ซื้อหัวนักษัตรหัวม้าเมื่อปี 2550 ในราคา 69.1 เหรียญฮ่องกง หรือ  8.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยขณะนี้ นักษัตรหัวม้าตั้งโดเด่นอยู่ที่คาสิโน ลิบัว ในมาเก๊า

รอยอัปยศที่ไม่มีวันลบเลือนจากสงคราม "ปล้นสมบัติจีน"
กำลังโหลดความคิดเห็น